เขียนโดย : Rozee Haree
พยายามหาข้อมูลชื่อหมู่บ้านต่างๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำปัตตานีจากแผนที่เก่าเพื่อค้นหาชื่อเดิมของหมู่บ้านเหล่านี้ รวมทั้งทำเลที่ตั้ง ชื่อ ลำคลอง ภูเขา และเส้นทางสัญจร โดยเฉพาะตั้งแต่หมู่บ้านบันนังสตาขึ้นไปจนถึงเขตแดนเบตง
แผนที่ของเฮนรี่ ลูอิส ที่ทำขึ้นในปี ค.ศ.1894 (พ.ศ.2437) นั้น ระบุชื่อหมู่บ้านต่างๆ ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ตลอดลำน้ำสายบุรีตั้งแต่ปากน้ำจนถึงต้นน้ำ
แต่ในส่วนของหมู่บ้านที่ตั้งเรียงรายตามแม่น้ำปัตตานีนั้นกลับปรากฏแค่หมู่บ้านตั้งแต่ปากน้ำปัตตานีจนถึงบันนังสตาเท่านั้น แผนที่ของลูอิสนี้กลับไม่ปรากฏชื่อหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ตั้งแต่บันนังสตาขึ้นไปจนถึงชายแดนเบตงอยู่เลย
ทำไมจึงไม่ปรากฏชื่อหมู่บ้านตั้งแต่บันนังสตาขึ้นไป คำตอบคือ ลูอิสนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจเหมืองแร่และทำแผนที่ การสำรวจของเขานั้นจึงไปหยุดแค่ที่บันนังสตา (เหมืองถ้ำทะลุ ซึ่งในแผ่นที่สะกดเป็น Gua Tumbus) และเดินทางวกไปทางขวาเพื่อออกไปทางยะหาผ่านหมู่บ้านลาบู (Kg Labu) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเหมืองลาบู เขาได้เดินทางตามสายเก่า ผ่านหมู่บ้านปะแต (Kg Petai) เพื่อไปออกไปทางหมู่บ้านยะลอร์ (Kg Jalor)
อีกเหตุผลหนึ่งนั้น อาจเป็นเพราะว่าการเดินทางทวนกระแสน้ำนั้นมีอุปสรรคอย่างมาก เพราะตั้งแต่บันนังสตาจนถึงเบตงนั้น กระแสน้ำเชี่ยวแรงและเต็มไปด้วยโขดหิน การเดินทางนั้นต้องใช้ช้างอย่างเดียวเป็นพาหนะ โดยลัดเลาะตามเส้นทางแคบๆ เพื่อไปยังชายแดนมลายา เส้นทางที่ตัดผ่านภูเขาสูงนี้ ถูกใช้ตั้งแต่โบราณเพื่อลำเลียงสินค้าระหว่างปัตตานีกับปีนัง และถูกใช้ถี่ขึ้นเมื่อรายาแห่งรามันได้ไปครอบครองเหมืองแร่ในเปรัค
ในต้นศตวรรษที่ 20 ตลอดเส้นทางจากบันนังสตาถึงเบตงนั้น มีเพียงหมู่บ้านสำคัญไม่กี่แห่งเท่านั้น เช่นหมู่บ้านมัยวัส (หมู่บ้านแม่หวาดในปัจจุบัน) อย่างในบันทึกของ เนลซัน แอนนาเดลที่ใช้เส้นทางสายนี้ในปี ค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) แอนนาเดลสะกดชื่อหมู่บ้านนี้ว่า Kg Maiwas
อันที่จริงแล้ว ลูอิสไม่ใช่นักสำรวจรายแรกที่เข้ามายังปาตานี เพื่อจดข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ก่อนหน้านั้นหลายปี ในปี ค.ศ.1883 วิลเลี่ยม คาเมร่อน ก็เดินทางโดยล่องตามแม่น้ำปัตตานีเช่นเดียวกัน แม้ไม่ได้ทำแผนที่เจาะจงเป็นการเฉพาะ แต่คาเมร่อนก็ระบุหมู่บ้านสำคัญๆ ที่ตั้งอยู่ตลอดแม่น้ำปัตตานีในบันทึกของเขา ส่วนแผนที่ที่เขาทำขึ้นนั้นเป็นเพียงแผนที่แสดงอาณาเขตของหัวเมืองทั้งเจ็ดที่เคยอยู่ภายใต้อาณาจักรปาตานีซึ่งถูกแบ่งออกโดยสยาม
เช่นเดียวกับลูอิส การเดินทางคาเมร่อนนั้นหยุดลงที่บันนังสตาเช่นเดียวกัน
แล้วหมู่บ้านอย่าง กาแปะห์ เบตง ยะรม บ้านโต บ้านแหร่นั้นมีปรากฏอยู่ในแผ่นที่เก่าบางหรือไม่ คำตอบคือ มี ซึ่งเท่าที่พอหามาได้นั้นปรากฏอยู่ในแผ่นที่ของบริติชมลายาที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1924 (พ.ศ.2467) และฉบับปรับปรุงตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1933 (ดูภาพประกอบ)
ในแผนที่นี้ปรากฏชื่อหมู่บ้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ (1) Kg Labu หมู่บ้านลาบูซึ่งที่ตั้งของเหมืองลาบู (2) Kg Dedak หมู่บ้านเดดัก ไม่แน่ใจว่ายังมีชื่อหมู่บ้านนี้อีกหรือไม่ (3) Bt Gajah Hutan ภูเขาฆฺาเจาะฮูตัน (4) Bt Bubus ภูเขาบูบุส ภูเขาลูกนี้ยังถูกเรียกโดยชาวบ้าน (5) G. Reh ภูเขาแรห
(6) Kg Reh บ้านแหร่ในปัจจุบัน (7) G. Mudin Besar ภูเขามูดินเบอซาร์ ไม่แน่ใจว่าเพี้ยนเป็นหมู่บ้านตังกะเดงหรือเปล่า ( Kg To บ้านโตในปัจจุบัน (9) Kg Blahat บ้านละหาดในปัจจุบัน (10) Klian Weng อัยเยอร์เวงในปัจจุบัน
(11) Bt Serdang ภูเขาเซอร์ดัง (12) G. Kubang Badak ภูเขากูบังบาดัก 13. Betong เบตง (14) Kg Kapeh หมู่บ้านกาแปะห์ 15. Kg Padang Tasek หมู่บ้านปาดังตาซิก (15) G. Gunung Gua Rimau ภูเขาฆูวารีเมา
(16) Kg Hala หมู่บ้านฮาลา หมู่บ้านเก่าแก่ที่อยู่ในใจกลางป่าบาลาก่อนทีจะถูกสั่งให้อพยพออกมาในช่วงการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา
ที่น่าสนใจ คือ ในแผนที่นี้ยังระบุถึงระดับความสูงของภูเขาและยังปรากฎเส้นทางสายเก่าจากเบตงไปยังทิศตะวันตกผ่านป่ารกชัฏที่ตัดผ่านพื้นป่าบาลาฮาลา เพื่อเดินไปยังบริเวณรอยต่อระหว่างอาณาจักรลือเฆฺะห์ กลันตันและเปรัค ซึ่งปัจจุบันเส้นทางสายนี้ได้สูญหายไปแล้ว