อึ้ง ! พบวิธีการซ้อมทรมาน ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง จชต. 10 วิธี เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน


นักสิทธิชายแดนใต้เผย พบข้อมูลจากการร้องเรียนรูปแบบการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ชายแดนใต้อยู่ 2 รูปแบบ สามารถจำแนกได้ดังนี้ รูปแบบแรกพบ 8 วิธี ส่วนรูปแบบที่สองพบ 2 วิธี ย้ำการซ้อมทรมานยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเปลี่ยนแปลงวิธีการบ้างเล็กน้อยหลังมีการร้องเรียนและตรวจสอบจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

อับดุลเลาะ เงาะ จากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) กล่าวว่า “จากที่ผมติดตามประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา (อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.จะนะ) พบว่าช่วงปี 2559 มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยและละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด แต่ช่วงเวลานั้นทางผมและเครือข่ายฯ ยังไม่ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร

แต่มาเริ่มทำฐานข้อมูลจากการร้องเรียนอย่างจริงจังก็เมื่อปี 2561-2564 ซึ่งพบว่า ปี 2561 มีผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษจำนวน 100 กว่าเคส ปี 2562 จำนวน 177 เคส ปี 2563 จำนวน 87 เคส และปี 2564 ตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึงเดือน ส.ค. มีผู้ถูกควบคุมตัวจำนวน 54 เคส

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วเคสที่ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการดำเนินคดี ทาง JASAD ได้ตามไปสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลอย่างละเอียด หรือ แม้แต่ครอบครัวผู้เสียหายที่ได้ไปเยี่ยมระหว่างถูกควบคุมตัว JASAD ก็ได้ติดตามด้วยเช่นกัน

ซึ่งสิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่ JASAD ได้รับการร้องเรียน มีฐานข้อมูลอ้างอิง โดยผมไม่ได้จงใจที่จะกล่าวหาเจ้าหน้ารัฐแต่อย่างใด แต่ขอยืนยันว่าข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ JASAD ได้มีการสัมภาษณ์ด้านเดียวจากผู้เสียหาย โดยยังไม่เคยได้รับข้อมูลเหล่านี้จากอีกฝ่าย

จากการร้องเรียนตลอด 4 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2561-2564 พบว่า การซ้อมทรมานจะถูกกระทำช่วง 37 วันแรกหลังจากถูกควบคุมตัว โดยอาศัยกฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ คือ (1) กฎอัยการศึก (Martial Law) 7 วัน และ (2) พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (Emergency Decree) 30 วัน

ซึ่งพบรูปแบบการซ้อมทรมานอยู่ 2 รูปแบบ (1) การซ้อมทรมานในส่วนของร่างกาย (2) การทรมานทางด้านจิตใจ

รูปแบบการซ้อมทรมานในส่วนของร่างกายแบ่งได้อีก 2 ประเภท (1.1) การซ้อมทรมานที่มีการทิ้งร่องรอยบาดแผล (1.2) การซ้อมทรมานแบบไม่เห็นร่องรอยและบาดแผล (White Torture)

วิธีการแรกที่เขาใช้ในการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย คือ “การทุบตี” โดยการนำกระบอง หรือ ไม้หน้าสามที่มีขนาดความยาวประมาณ 1 ศอก พันด้วยผ้าขนหนูหนาๆ แล้วตีเข้าไปที่ส่วนหลังของร่างกายและหน้าท้องของผู้เสียหาย

วิธีที่สอง คือ นำผ้าขนหนูเช่นเดียวกัน แต่วิธีนี้เขาจะพันไว้ที่มือ เพื่อชกต่อยเข้าไปที่ใบหน้าของผู้เสียหาย ซึ่งตอนโดนกระทำเขาไม่ได้ทำฅนเดียว แต่จะร่วมมือกันกระทำ บางฅนก็จะจับเท้า บางฅนก็จะจับมือไขว้หลัง

วิธีที่สาม คือ นำผ้านวม หรือ ผ้าผืนใหญ่ๆ มาห่อที่ลำตัว เหมือนกับห่อศพ แล้วใช้ไม้หน้าสามทุบตีเข้าที่ลำตัวของผู้เสียหาย

วิธีที่สี่ คือ นำตัวผู้เสียหายเข้าไปแช่ในลังน้ำแข็ง โดยในลังนั้นเขาจะใส่น้ำแข็งครึ่งถังและเทน้ำเข้าไปอีกครึ่งถัง แล้วบังคับให้ผู้เสียหายเข้าไปอยู่ในนั้นโดยให้ถอดเสื้อผ้าเปลือยกายทั้งหมด บางครั้งก็จะมีการกดศรีษะให้จมน้ำ พอเริ่มขาดอากาศหายใจเขาก็จะปล่อยมือ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ จนกว่าผู้เสียหายจะยอมทำตามเขา ซึ่งผู้เสียหายจะบอกว่าวิธีนี้เขาจะทำกันนอกห้อง หรือ นอกอาคาร เขาจะเรียกสถานที่นี้ว่า “หน้า บ.ก.” ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามันย่อมาจากคำว่าอะไร

วิธีที่ห้า คือ จะใช้เครื่องมือไฟฟ้าเพื่อทำการช็อต ผู้เสียหายให้ข้อมูลว่า เครื่องมือนี้จะมีรูปเป็นสี่เหลี่ยม มีขนาดเท่าฝ่ามือ วิธีการของเขา คือ ให้ผู้เสียหายเปลือยท่อนล่างแล้วหันหลังชันเข่าไปด้านหน้าในสภาพโก้งโค้ง แล้วใช้ผ้าชิ้นเล็กที่ชุบน้ำยัดเข้าไปในทวารหนัก หลังจากนั้นจะใช้เครื่องมือไฟฟ้าดังกล่าวมาแนบไว้กับผ้าเปียกที่เสียบไว้ในทวารหนัก บางเคสก็จะถูกช็อตเข้าไปที่อวัยวะเพศ

วิธีที่หก คือ ใช้ถุงดำครอบศรีษะ คล้ายกับที่เราได้เห็นการกระทำของผู้กำกับโจ้ สภ.เมืองนครสวรรค์ ได้ทำกับผู้ต้องหาคดียาเสพ แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้เสียหายจะบอกว่าเป็นพลาสติกที่เปียกน้ำมาครอบไว้บนศรีษะ เวลาหายใจมันก็จะแนบติดกับใบหน้าโดยอัตโนมัติ หลังจากนั้นก็จะรัดตรงที่คอเพื่อไม่ให้หายใจ พอเริ่มเห็นท่าไม่ดีเขาก็จะคลายถุงออก ซึ่งเขาจะทำอย่างนี้จนกว่าผู้เสียหายจะยอมพูด

และวิธีที่เจ็ด คือ ทำให้สำลักน้ำ (Waterboarding) ซึ่งเป็นวิธีที่ไฮไลท์มากที่สุด เขาจะให้ผู้เสียหายนอนหงายในสภาพเปลือยกาย มัดมือ มัดเท้า แล้วน้ำผ้าขนหนูมาวางไว้บนใบหน้า และนำสายยางรดน้ำมาฉีดใส่บนผ้าขนหนูบริเวณจมูกและปาก เพื่อให้ผู้เสียหายสำลักน้ำ วิธีนี้บางเคสจะสลบไปประมาณ 30 วินาที – 2 นาทีโดยประมาณ” อับดุลเลาะ กล่าว

ต่อมาช่วงปี 2561-2562 มีการส่งหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนได้รับการตรวจสอบ หลังจากนั้นวิธีการซ้อมทรมานก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย

อับดุลเลาะ ระบุว่า “เขาจะใช้วิธีที่ไม่ให้เห็นบาดแผลร่องรอยด้วยการบังคับไม่ให้หลับนอนเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนติดต่อกัน โดยจะให้ผู้เสียหายยืนตรงนอกอาคาร หรือบางทีก็ให้ยืนเปลือยกายในห้องที่มีอุณหภูมิเย็นจัด หากมีการแอบนั่ง หรือ นอนหลับ ก็จะโดนเตะต่อยเพื่อให้ตื่นมายืนเหมือนเดิม พวกเขาจะพลัดเวรกันเฝ้า เป็นกะๆ ละ 2 ฅน จะคอยเฝ้าดูผู้เสียหาย

วิธีการนี้ผลลัพธ์ออกมาคือ ผู้เสียหายจะเบลอ พูดจาไม่รู้เรื่อง หลายเคสจะได้รับการร้องเรียนจากครอบครัวที่ได้เข้าไปเยี่ยมผู้เสียหายว่าจะมีพฤติกรรมลักษณะนี้” นักสิทธิชายแดนใต้ กล่าวไว้

อับดุลเลาะ เปิดเผยถึงรูปแบบการทรมานในรูปแบบต่อไปว่า “เขาจะมีการทรมานทางด้านจิตใจด้วย อย่างเช่น ข่มขู่ผู้เสียหายด้วยการนำญาติ พี่น้อง ภรรยา หรือ ลูกชาย มาสอบสวนอยู่ห้องข้างๆ เพื่อให้ผู้เสียหายได้ยินเสียงของบุคคลเหล่านั้น ข่มขู่ว่าจะทำมิดีมิร้ายด้วยการจับถ่วงน้ำ แล้วเปิดก๊อกน้ำให้ผู้เสียหายได้ยิน จนทำให้หลายๆ เคสสยบยอมทำตามเขา เพราะกลัวฅนรอบตัวจะได้รับอันตราย ทั้งที่ความจริงแล้วทุกฅนปลอดภัยดี แต่เขาจะใช้กลวิธีจิตวิทยามาหลอกหลอน สร้างละคร สร้างเรื่องขึ้นมา

ส่วนวิธีสุดท้าย คือ เขาจะนำผู้หญิงจากที่ไหนไม่รู้เข้ามาอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้เสียหายด้วยการเปลือยกายบางส่วนและขอร่วมหลับนอนด้วย ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ทำร้ายจิตใจผู้เสียหายมากที่สุด เป็นต้น

ซึ่งจะเห็นได้ว่า รูปแบบ ประเภท และวิธีการซ้อมทรมานทั้งหมดนี้มันจะมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง หากมีแรงกดดันจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีการร้องเรียน เขาก็จะถามถึงร่องรอย หรือ บาดแผล หรือ หลักฐานที่โดนขีดข่วน ซึ่งหลังๆ มานี้มันกลับไม่มีร่องรอยทิ้งไว้ แต่ยืนยันว่าการซ้อมทรมานยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าทางสหประชาชาติ (UN) ได้มีการคอมเม้นต์มาบ้างเมื่อมีการร้องเรียนตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมาน แต่เท่าที่ติดตามมาก็ยังไม่มีการยุติ แก้ไข หรือ ปรับปรุงอะไรในประเด็นนี้เลย” อับดุลเลาะ กล่าวทิ้งท้าย