The Patani ร่อนหนังสือให้รัฐไทย, มาเลย์, BRN, ICRC และ UN หวังช่วยกันจัดการโควิดในพื้นที่ปาตานีได้สำเร็จ


ประธาน The Patani ระบุ รัฐบาลประมาท เพ้อว่าตนเก่ง ไม่เรียนรู้อดีต มาระลอกใหม่พังทั้งประเทศ มองสงครามไม่ได้ทำลายการทำงานของแพทย์ แต่มันทำลายบรรยากาศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แนะสิ่งอื่นควรวาง ควรโฟกัสและจัดการโควิดก่อน The Patani ส่งหนังสือให้ทุกฝ่าย หวังมาช่วยจัดการโควิดได้สำเร็จ

รัฐบาลประมาท ไม่เรียนรู้อดีต มาระลอกใหม่ตั้งหลักไม่ทัน

อาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “ทั้งในนามส่วนตัวและในนามเพื่อนๆ The Patani มองโควิดระลอกล่าสุดค่อนข้างสาหัส อาจจะด้วยความรุนแรงของตัวมันเอง และการจัดการของภาครัฐเองด้วย

ถ้าดูปีที่แล้วหลายฅนชื่นชมรัฐบาลไทยต่อการจัดการโควิด และมองว่าประเทศไทยอยู่แนวหน้าในด้านสาธารณสุข หรือ เรื่องสุขภาพ แต่หลายๆ ฅนพูดออกมาเสียงเดียวกันว่า เหตุที่มันออกมาดีเป็นเพราะการใช้ยาแรงเกินจำเป็นหรือเปล่า และในทางกลับกันก็มีฅนประเมินแล้วว่า มันมีโอกาสที่จะทำให้ฅนไม่เข้าใจโรคจริงๆ

พอมาระลอกใหม่ปรากฎว่า เป็นแบบนั้นจริง ฅนไม่เข้าใจโรค ส่วนรัฐเองก็ประมาทมองว่าตัวเองเคยจัดการกับโรคได้ดีเลยเพ้อถึงการจัดการในระลอกแรก พอมาระลอกใหม่เลยไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร แต่ยังไม่นับรวมถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีนอีกด้วย รวมทั้งมาตราการดูแลตัวเองเป็นไปได้อย่างมีข้อจำกัด

สรุปวิกฤติโควิดระลอกใหม่นี้ไม่มีใครคาดคิดว่าตัวเลขของไทยจะมากกว่ามาเลเซีย ทั้งที่ระลอกแรกฅนไทยยังกังวลมากว่าจะมีเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียพาเชื้อเข้ามาในประเทศไทยหรือเปล่า และรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ต่อการจัดการโควิด

แต่มาวันนี้ฅนไทยกลับอิจฉาประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศกัมพูชา หรือ ประเทศลาว ที่ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ฅนให้ความน่าเชื่อถือ

ระลอกใหม่นี้ตนมองว่ามันหนักมาก แต่ความหนักของมันสามารถคาดการณ์ได้ถ้าเกิดเราวางแผนกันดีๆ เพราะว่าเวลาในการทำความเข้าใจ หรือ เวลาในการรับมือมีเวลาปีกว่าที่รัฐควรจะเรียนรู้ อย่างประเทศมาเลเซียจะเห็นว่าระลอกแรกเขายังตั้งหลักไม่ได้ แต่เขาพยายามเรียนรู้อย่างรวดเร็วจนสุดท้ายมันก็ทรงตัว รับมือค่อนข้างดี

ตอนนี้ยอดผู้ที่ติดเชื้อมันไม่ได้มีนัยยะสำคัญเท่ากับระบบสาธารณสุขยังดูแลฅนป่วยได้หรือเปล่า ในไทยถือว่าจำนวนฅนเสียชีวิตต่อยอดของอาการผู้ติดเชื้อ ถือว่ายอดผู้เสียชีวิตสูงมาก ประเทศที่พัฒนาแล้วถึงจะเจอสายพันธุ์เดลต้าระบาดหนัก แต่เขาก็รักษายอดผู้เสียชีวิตได้ และยังรักษายอดผู้ป่วยอาการหนักได้ด้วย” อาเต็ฟ กล่าว

BRN ประกาศยุติปฏิบัติการทางอาวุธ เพื่อการทำงานของแพทย์ แต่รัฐไทยกลับยั่วยุเพื่อให้กองกำลัง BRN ตอบโต้

อาเต็ฟ เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิดที่เชื่อมโยงกับพื้นที่สงครามว่า หรือ พื้นที่พิเศษที่ทุกฅนสามารถตั้งคำถามต่อรัฐไทย รวมทั้งคู่สงครามของรัฐไทยอย่างพรรค BRN หรือ ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานีว่า “ในฐานะที่เขาเสนอตนว่าเป็นองค์กรปลดปล่อยปาตานีจากรัฐไทย ซึ่งทุกฅนย่อมมีสิทธิที่จะตั้งคำถามต่อ BRN ได้

แต่ในทางกลับกันเราก็ต้องแฟร์ หรือให้ความเป็นธรรมต่อ BRN ด้วย เพราะพวกเขาไม่ได้มีความชอบธรรมในทางกฎหมายที่จะเข้ามาทำอะไรในพื้นที่ได้ ยิ่งพูดถึงเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนมันเป็นเรื่องของรัฐระหว่างรัฐที่ต้องจัดการ

ในขณะเดียวกันก็ใช่ว่า BRN ไม่ได้ทำอะไร พวกเขาเคยเสนอวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำในเรื่องโควิดตั้งแต่ระลอกแรกด้วยการสนองข้ออ้อนวอนของเลขาธิการสหประชาชาติหยุดปฏิบัติการทางอาวุธ เพื่อเปิดทางให้การทำงานด้านการแพทย์ดำเนินไปด้วยดี

แต่รัฐไทยต่างหากกลับไม่สนใจต่อเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ดูได้จากการปะทะ หรือ การยั่วยุกองกำลัง BRN ที่อยู่ในที่ตั้งเพื่อให้ออกมาตอบโต้เป็นระยะๆ ตนก็ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐไทยเช่นกัน

แต่เรื่องแบบนี้สามารถตีความแบบที่ไม่ได้ใส่ความอคติเข้าไปได้ ตัวอย่างเช่น การตอบโต้ของ BRN หรือ การโจมตีของรัฐไทย ด้วยตัวของมันเองไม่ได้ไปทำลายการทำงานของแพทย์ แต่มันทำลายบรรยากาศในภาวะการระบาดใหญ่ ซึ่งมันต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สิ่งอื่นทุกคนควรวาง และควรมาโฟกัสกับการจัดการเรื่องโควิด แต่ดูเหมือนรัฐไม่ได้สำนึกถึงเรื่องนี้เท่าไหร่” อาเต็ฟ เปิดเผย

The Patani ส่งหนังสือให้ทุกฝ่าย หวังมาช่วยจัดการโควิดในพื้นที่ได้สำเร็จ

อาเต็ฟ เปิดเผยในสิ่งที่ The Patani ได้ทำให้สังคมปาตานีทั้งระลอกแรกและระลอกใหม่ว่า “ระลอกแรกเราทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย ทุกองค์กร ทั้งองค์กรด้านการแพทย์และองค์ภาคประสังคม แต่สิ่งที่ The Patani ทำเต็มที่ที่สุด คือ การเยียวยา การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ที่เดือดร้อนจากโควิดทั้งผู้ที่ติดเชื้อและหมู่บ้านที่ถูกสั่งปิด

เราจะคอยกระจายปัจจัยในการมีชีวิตอยู่ต่อไป เช่น ถุงยังชีพ เงินจำนวนเล็กน้อย เพื่อที่จะทำให้ครอบครัวหนึ่งสามารถอยู่ในภาวะที่ต้อง Quarantine ตัวเอง อีกทั้งยังคอยอำนวยให้ความช่วยเหลือฅนปาตานีที่ติดอยู่ในประเทศมาเลเซียด้วย

ส่วนระลอกล่าสุด (เมษายน 2564) มันอยู่เหนือความสามารถของ The Patani จริงๆ ทั้งภูมิภาคปาตานีและสังคมไทยโดยรวมสาหัสอย่างรุนแรง เราเลยสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ แต่หน้าที่เราก็แค่ช่วยประสานหน่วยงานที่ควรรับผิดชอบ รวมทั้งคอยติดตามการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และทำอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่ทำงานหลักในประเด็นนี้ คือศูนย์เพื่อการเข้าถึงองค์กรและบริการสาธารณะ

เราตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจโควิด ซึ่งหน้าที่หลัก คือ จะทำอย่างไรให้ฅนปาตานีได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ เราตั้งคณะทำงานรณรงค์ โดยให้เลขาธิการ The Patani ทั้ง 8 ภูมิภาค สื่อสารกับสมาชิกและเครือข่ายเพื่อประเมินกลุ่มฅนที่มีโอกาสต่อต้าน หรือ ทำให้ฅนในสังคมปาตานีไม่กล้าที่จะรับวัคซีน เราเข้าไปทำความเข้าใจด้านทัศนคติ มีสำเร็จบ้าง และมีปัญหาบ้าง

ส่วนในระดับนโยบาย เราได้ส่งหนังสือฉบับแรกไปยังรัฐบาลไทย สื่อสารให้เขาเปิดรับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะในภาวะวิกฤตแบบนี้ เพราะคนปาตานีมีทัศนคติที่เป็นลบต่อรัฐไทยอยู่เดิมแล้ว มีความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจต่อรัฐไทยเป็นอย่างสูง เลยขอให้รัฐไทยเปิดทางใช้กลไกที่ฅนปาตานีให้ความน่าเชื่อถืออย่างดึงองค์กรระหว่างประเทศในพื้นที่ เช่น ICRC (คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ) หรือ หมอไร้พรมแดน ในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกระจายเรื่องการฉีดวัคซีนโดยเทียบเคียงให้เหมือนกับการแพทย์พื้นที่สงครามอื่นๆ

หากเป้าหมายหลักของรัฐ คือ การให้คนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเพื่อให้เกิดการคุ้มกันหมู่ การยอมให้เกิดภารกิจแบบนี้ ถือว่าเป็นการช่วย ปกป้องสังคมไทยโดยรวม ไม่เฉพาะสังคมปาตานี

ฉบับที่สอง เราเขียนหนังสือถึงพรรค BRN โดยมีเหตุผลหลักให้ BRN ชี้นำฅนปาตานีให้มีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องการรับวัคซีน เราเข้าใจพัฒนาการของการพูดคุยกับรัฐไทยมันไม่ได้มีความก้าวหน้า แต่ในเรื่องวัคซีน หรือ เรื่องมนุษยธรรมเราอยากให้ BRN พยายามหาจุดร่วมกับรัฐบาลไทยให้มากที่สุด

ฉบับที่สาม เรามองว่าตัวของรัฐไทยก็เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ การทำให้องค์กรเหล่านี้เข้ามาให้คำแนะนำต่อรัฐไทยเป็นสิ่งที่ดี รวมทั้งให้เขาบอกถึงความต้องการของเราต่อรัฐไทยว่าตัววัคซีนที่ดีควรเป็นอย่างไร พื้นที่ปาตานีเป็นพื้นที่ด่านหน้าก่อนเข้าประเทศไทย การแพร่เชื้อสายพันธุ์ต่างๆ ก็เสี่ยงที่จะเข้ามายังสังคมไทยโดยรวมด้วย

ฉบับที่สี่ เราได้ส่งหนังสือไปถึงองค์กร ICRC เพื่อให้เขารับรู้ว่าเราได้ส่งหนังสือให้รัฐไทยและ BRN เล่าให้เขาทราบถึงผลกระทบของผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ปรากฏว่ายอดผู้ติดเชื้อในเรือนจำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เรากังวลว่าพวกเขาจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม และให้เขารับรู้ว่ากลไกแบบ ICRC นั้นมีความสำคัญอย่างไร

ฉบับสุดท้าย เราส่งไปให้รัฐบาลมาเลเซีย ประเด็นที่มีฅนปาตานีไม่ได้เป็นผู้ที่มีสถานะทางกฎหมายในมาเลเซีย โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อยู่ในประเทศมาเลเซียค่อนข้างมาก ซึ่งเรากังวลว่าพวกเขาจะไม่ได้รับการดูแลในเรื่องการรับมือกับโควิดพร้อมอ้อนวอนให้รัฐบาลมาเลเซียดูแลพวกเขาด้วย

หลังจากนั้น เราได้ทำรายงานสรุปเหตุการณ์เพื่อส่งให้นักการฑูต ส่งให้สื่อสารมวลชน เพื่อให้เขารับรู้ถึงความเป็นไปของที่นี่โดยเขียนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย เหตุที่เราเขียนสองภาษาก็เพราะเรามองว่า เป็นเรื่องที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับรู้ไม่เพียงพอ ถ้าทุกฅนรับรู้ถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นมันจะเป็นแรงเกื้อหนุนที่ดีในการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเราทำไปแล้ว 5 ฉบับ และจะมีฉบับที่ 6 ในเร็วๆ นี้” อาเต็ฟ กล่าว

อาเต็ฟ ทิ้งท้ายว่า “ความจริงแล้วเรื่องทั้งหมดนี้เราไม่ได้ต้องการให้ใครรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของเรา เพราะเราอยากให้ได้ผลสำเร็จ ไม่อยากให้มันกลายเป็นประเด็นการเมือง แต่ตอนนี้มันผ่านช่วงระยะที่เราต้องการสิ่งนั้นแล้ว”

#หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ประชาไท : https://www.facebook.com/108882546698/posts/10158563469356699/

อ่านรายงานที่เกี่ยวข้อง