“เดือนเพ็ญสวยเย็นเห็นอร่ามนภาแจ่มนวลดูงาม เย็นชื่นหนอยามเมื่อลมพัดมา……ลมเอยช่วยเป็นสื่อให้จากห้วงดวงใจของข้านี้ไปบอกเขาน้ำนา ให้เมืองไทยรู้ว่าไม่นานลูกที่จากมาจะไปซบหน้ากับอกแม่เอย” … เนื้อเพลง “คิดถึงบ้าน” หรือ “เดือนเพ็ญ” (https://www.youtube.com/watch?v=fMnok8qf0yg) ที่เขาแต่งด้วยความคิดถึงบ้าน แผ่นดินเกิด ทว่าเขาก็ไม่ได้กลับบ้านอีกเลยในขณะที่เขามีลมหายใจ
ปีพ.ศ.2479 ในขณะที่เขาซึ่งมีภูมิลำเนาเป็นคนราชบุรีมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาสนใจในด้านวรรณกรรมโดยใช้นามปากกาว่า “นายผี” และเป็นที่รู้จักในฐานะคอลัมนิสต์เขียนบทความและกวี เขาสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2483 ในสาขาวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และเริ่มรับราชการเป็นเป็นอัยการผู้ช่วยชั้นตรี กองคดี กรมอัยการ เมื่อ 21 กรกฎาคม 2484
จากนั้นเขาถูกย้ายไปปัตตานีเมื่อ 1 มีนาคม 2485 ผลเพราะเขาเป็นคนตรงไปตรงมาและรักความเป็นธรรม จึงมีปัญหากับหัวหน้างานหลังจากที่เขาไปขุดคุ้ยคดีหนึ่ง
เมื่ออยู่ปัตตานีเขาคลุกคลีกับชาวบ้าน ถีบจักรยานออกไปเยี่ยมเยียนตามชนบท หัดพูดภาษามลายู ฝึกอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน สวมหมวกกาปีเยาะห์ ไม่กินเนื้อสุกร(หมู) ได้รับปันส่วนไม้ขีดไฟมาจากทางการ แบ่งไว้ใช้เองบางส่วน นอกนั้นนำไปแบ่งปันให้ชาวบ้านสองครัวต่อหนึ่งกลัก ความรักที่เขามีให้ต่อประชาชนชาวปัตตานีจึงไม่มีกำแพงชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม มากั้นกลาง
ตำรวจจับชาวบ้านปัตตานีจำนวนมากมาเปรียบเทียบปรับสังเวยลัทธิชาตินิยม ในข้อหาฝ่าฝืนรัฐนิยมของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่น กินหมาก ไม่สวมหมวก นุ่งโสร่ง เป็นต้น พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีเปรียบเทียบปรับมาขอความเห็นชอบจากพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“อัศนี พลจันทร์” ใช้ความกล้าหาญสั่งว่าการเปรียบเทียบปรับไม่ชอบซึ่งมีผลเท่ากับสั่งไม่ฟ้อง ต้องคืนค่าปรับให้กับผู้ต้องหาทุกคน ด้วยเหตุผลว่าผู้ต้องหาไม่รู้ภาษาไทย ไม่เข้าใจกฎหมายไทย รัฐนิยมขัดต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและขัดต่อหลักความยุติธรรม ใช้บังคับไม่ได้ เขาเลือกยืนเคียงข้างผู้ถูกกดขี่ แทนที่จะเป็นผู้กดขี่เสียเอง ทำให้กิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วทั้งปัตตานีและในกรมอัยการ เพราะอัยการในท้องที่อื่นล้วนให้ความเห็นชอบกับการเปรียบเทียบปรับทั้งสิ้น
ทว่าหลังจากทำงานที่ปัตตานีได้แค่เพียง 2 ปีเขาก็ถูกสั่งย้ายไปที่สระบุรีท่ามกลางหยาดน้ำตาของประชาชนที่เขารักและรักเขา เพราะรัฐกล่าวหาเขาว่าให้การสนับสนุนชนชาวมลายูมุสลิมต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ผ่านไป 4 ปีเศษ รัฐมีคำสั่งให้ย้ายเขาจากสระบุรีไปอยุธยาอีกครั้ง เนื่องจากขัดแย้งกับข้าหลวง จึงถูกสั่งให้กลับมาประจำกองคดี กรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย เหตุเพราะความเป็นคนตรงไปตรงมา ภายหลังมีปัญหาท้ายที่สุดจึงตัดสินใจลาออกเมื่อสิ้นปี 2495
ในช่วงปี 2495 จอมพล ป. มีคำสั่งให้จับกุมนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีผลงานไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ทำให้ “อัศนี พลจันทร์” ต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร
ในปี 2504 เขาได้ปรากฏตัวอีกครั้งในนาม “สหายไฟ” ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อสมาชิกพรรคถูกจับกุมทำให้อัศนีต้องหลบหนีไปอยู่เวียดนามและจีน เขาเสียชีวิตเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2530 ในแขวงอุดมไซประเทศลาว และได้นำกระดูกกลับสู่ประเทศไทยเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2540
และทิ้งผลงานอันเป็นอมตะด้วยเพลงของเขาจาก”คิดถึงบ้าน” มาเป็น”เดือนเพ็ญ”เพลงที่ถูกศิลปินนำไป cover ร้องกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดเพลงหนึ่ง