PENGABAIAN PARA PELAKU JENAYAH TAKBAI BUKTI SIAM TIADA KOMITMEN BERDAMAI
.
วารสาร SURAT ฉบับที่ 109 ตุลาคม 2024 หน้าที่ 8-9
แปลโดย ชินทาโร่ ฮาร่า
.
โศกนาฏกรรมที่ตากใบนั้น เป็นเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นในปาตานี เมื่อต้นศตวรรษที่ 21 ปาตานีเป็นพื้นที่ความขัดแย้งอันยาวนานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกิดจากการล่าอาณานิคมโดยสยามต่อชาติมลายูปาตานี (เพื่อแก้ไขความขัดแย้งรอบนี้) ฝ่ายต่าง ๆ มีบทบาท รวมไปถึงรัฐบาลมาเลเซียที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนายความสะดวก สำหรับกระบวนการเจรจาสันติภาพ และขบวนการปลดแอกคือแนวร่วมปฏิบัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN)
.
การล่าอาณานิคคมนั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและความเป็นมลายูของประชาชนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่ และยังเป็นข้อท้าทายอันใหญ่สำหรับการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดจากการกระทำของอังกฤษ (ในอดีตที่ปักปันเขตแดน) และผู้กระทำผิดที่มีความรับผิดชอบต่อการสลายชุมนุมที่ตากใบก็ยังหลบหนีอยู่ (โดยไม่สามารถควบคุมตัวได้)
.
ตามบริบทางประวัติศาสตร์ รัฐบาลอังกฤษก็ไม่พูดอะไรเสมือนพวกเขาไม่มีความรับผิดชอบต่อสนธิสัญญากรุงเทพฯ (ระหว่างอังกฤษกับสยาม) ค.ศ. 1909 ส่วนสยามก็มองว่า ปาตานีเป็นดินแดนของเขาตลอดไป ทั้ง ๆ ที่ความขัดแย้งและการแก้ไขที่ไม่ตระหนักถึงประวัติศาสตร์อันแท้จริงก็แค่ทำให้สถานการณ์ที่ปาตานียิ่งซับซ้อนขึ้น และทำให้ปาตานีเป็นดินแดนแห่งการนองเลือดเป็นเวลา 2 ศตวรรษ ซึ่งเป็นเหตุให้การสร้างสันติภาพอันแท้จริงยากเหลือเกิน
.
โศกนาฏกรรมตากใบเป็นบาดแผลที่ไม่เคยหายสำหรับชาติมลายูปาตานี ความโหดเหี้ยมในเหตุการณ์ตากใบส่งผลต่อทัศนคติเกี่ยวกับความยุติธรรมในประชาคมปาตานีและศาสนาอิสลามด้วย ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของชาติมลายูตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ความรุ่งเรืองของสังคมในพื้นที่และประชาชนปาตานีอยู่พร้อมกับสันติภาพเป็นเวลาหลายศตวรรษในอารยธรรมมลายู ภายใต้การปกครองของราชามลายูหลายองค์
แต่ตอนนี้ปาตานีต้องอยู่การปกครองของสยาม และชาติมลายูปาตานีต้องยอมจำนน ใช้ชีวิตอย่างไร้ศักดิ์ศรีและไม่ได้รับการดูแลจากนักล่าอาณานิคมจากกรุงเทพฯ ที่ครอบงำพื้นที่ด้วยปฏิบัติการทางการทหาร เปลี่ยนโครงสร้างการปกครอง และกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติ ทำลายเยาวชนของชาติ (มลายูปาตานี) ด้วยระบบการศึกษาตามเสรีนิยมและโลกิยนิยม
.
เหตุการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรง รวมไปถึงการสังหารและการจับกุมตามอำเภอใจภายใต้กฎหมายพิเศษที่ไม่มีมนุษยธรรมสามฉบับในระยะเวลา 20 ปีทำให้ความไม่พอใจและความโกรธของประชาชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ในกรณีเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชน 86 คนเสียชีวิต อีกหลายร้อยคนได้รับบาดเจ็บสาหัส และยังเป็นเหตุให้ประชาชนหลายคนต้องสูญเสียสมาชิกครอบครัวจากการใช้ความรุนแรงและความโหดเหี้ยมของอาชญากรที่เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของนักล่าอาณานิคมสยาม
.
ในเวลาเดียวกัน โอกาสสำหรับประชาชนชาติมลายูปาตานีในแสวงหาความยุติธรรมก็ยิ่งน้อยลง และหายไป เพราะสันดานของนักล่าอาณานิคมชอบโกหกและเอาเปรียบจากสถานการณ์ ทั้ง ๆ ที่ทั้งหมดนี้ (การดำเนินคดีตากใบ) เกิดขึ้นในศาลและภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยก็ตาม จริง ๆ แล้วรัฐบาลต้องแสดงความจริงจังในการแก้ไขผ่านการเจรจาสันติภาพที่กำลังจะไปถึงข้อตกลงสุดท้ายในแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) เพื่อไม่ให้สถานการณ์กลายเป็นสงครามที่ไม่มีการสิ้นสุด
.
กระบวนการสันติภาพทำให้ประชาชนชาติมลายูปาตานีมีความสำนึกมากขึ้น และพวกเขาก็รู้ว่า การพิจารณาคดีอาญาที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลยไม่มีความโปรงใสและคำตัดสินจากศาลก็ไม่มีความยุติธรรม
ยิ่งไปกว่านั้น อาชญากรคดีตากใบทั้ง 7 คนก็ยังไม่มีใครที่ถูกจับเลย ซึ่งในนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของทหาร พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนรวมถึงที่ยังรับราชการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
การจัดการต่ออาชญากรในคดีตากใบย่อมส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อการเจรจาสันติภาพ ภายใต้ความไม่แน่นอนในระบบกฎหมายของไทยและท่ามกลางปฏิบัติการทางการทหารของนักลาอาณานิคมไทย ความน่าเชื่อถือและความไว้ใจต่อคณะพูดคุยของฝั่งไทยนั้นนับวันก็ยิ่งน้อยลง
.
สังคม (ปาตานี) และองค์กรนอกภาครัฐต่าง ๆ พยายามให้การเจรจาสันติภาพดำเนินตามมาตรฐานสากล แต่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามจากนักล่าอาณานิคมจากกรุงเทพฯ โดยดำเนินคดีต่อพวกเขา ทั้ง ๆ ที่คดีเหล่านี้ไม่มีความชอบธรรมและเป็นการกดขี่ล้วน ๆ ต่อสังคมปาตานี
และกรุงเทพฯ ก็พยายามจะกีดกันการมีส่วนร่วมของนักเคลื่อนไหวด้วยการปิดปาก และ (สำหรับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่) มักจะอาศัยวิธีการทางการทหาร เช่น การขู่ฆ่า ซึ่งอาจจะทำให้ความขัดแย้งทวีรุนแรงขึ้น และ (พัฒนาการเช่นนี้) ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพที่สังคมนานาชาติกำลังติดตามอยู่
.
การที่ปล่อยให้อาชญากรในคดีตากใบหลบหนีได้นั้นแสดงให้เห็นว่า ระบบการบังคับใช้กฎหมายของไทยนั้นอ่อนแอมาก ตามรายงานข่าว ฝ่ายรัฐก็ไม่ได้ใช้มาตรการอย่างเด็ดขาดต่ออาชญากรเหล่านี้ อาจเพราะขาดข้อมูลข่าวสาร หรือว่า พรรคเพื่อไทยที่นำรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่กล้าจะรับความเสี่ยง สถานการณ์เช่นนี้เปิดช่องทางให้แก่พวกอาชญากรคดีตากใบหนีไปต่างประเทศอย่างเสรี ซึ่งอาจจะทำให้สถานการณ์ที่ปาตานีแย่ลงและขาดเสถียรภาพในอนาคต
.
การกระทำที่ปล่อยให้อาชญากรหนีไปอย่างเสรีนั้นก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลที่กรุงเทพฯ ที่นำโดยแพทองธาร ชินวัตร ไม่มีความจริงจังในการรับมือแก้ไขปัญหารากเหง้าของความขัดแย้ง ทั้ง ๆ ที่พวกเขามีความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นองเลือดที่ตากใบและทำให้ประชาชนปาตานีเสียชีวิตจำนวนมาก
หากรัฐบาลไม่เข้าใจความหมายของสันติภาพอันแท้จริงและไม่รับมือกับความขัดแย้งทางมนุษยธรรมที่ปาตานี แต่จัดการปัญหาตามรัฐธรรมนูญที่ไม่สมบูรณ์ของประเทศไทยอย่างเดียว ความพยายามเพื่อจับกุมอาชญากรให้ขึ้นศาลนั้นก็แค่เป็นการจัดฉากและไม่มีประโยชน์อะไรทั้งสิ้น
.
ท่ามกลางความขัดแย้งอันซับซ้อน คดีตากใบและการจัดการต่อเหล่าอาชญากรเช่นนี้ก็จะไม่ใช่แค่ทำให้สถานการณ์แย่ลงและเป็นอุปสรรคในการสร้างสันติภาพอย่างเดียว หากไม่มีการดำเนินการต่อคดีดังกล่าวอย่างเด็ดขาด ความหวังเพื่อสร้างสันติภาพก็ยิ่งจางหายลงไป
.
ด้วยเหตุนี้ จำเป็นต้องมีการทำงานอย่างจริงจังของทุกฝ่ายเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและความโปรงใสในการบังคับใช้กฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ชั้นสูง (ที่เป็นจำเลยในคดีตากใบ) หากมีการจัดการอย่างถูกต้องต่ออาชญากรคดีตากใบและมีความพยายามเพื่อแก้ไขปัญหารากเหง้าอย่างจริงจัง อนาคตของปาตานีก็จะมีความหวัง ด้วยการสร้างสันติภาพอันแท้จริงสำหรับชาติมลายูปาตานีและการนำความยุติธรรมให้แก่เหยื่อและครอบครัวของโศกนาฏกรรมตากใบ
.
.
หมายเหตุ : แปลจาก วารสาร SURAT ฉบับ 109 ตุลาคม 2024 หน้าที่ 8-9 แปลโดยชินทาโร่ ฮาร่า ซึ่งทาง The Motive เล็งเห็นถึงประโยชน์จากบทความดังกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพปาตานีจากมุมมองของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ และได้รับอนุญาตการแปลความจากกองบรรณาธิการของวารสาร SURAT ซึ่งเป็นวารสารภาษามลายู (รูมี-ยาวี) ที่เผยแพร่อยู่ในต่างประเทศและพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ในรูปแบบของไฟล์พีดีเอฟ มีลักษณะของการส่งต่อในอีเมลล์ เพื่อสื่อสารเรื่องราวสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการเอกราชปาตานีในปัจจุบัน