โรงเรียนตาดีกาจะคงอยู่อย่างไรท่ามกลางโลกสมัยใหม่

ในโลกออนไลน์ของคนจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี มีเรื่องราวที่น่าสนใจหลากหลายประเด็น แต่หลังจากมีดราม่าประเด็นตาดีกาดูเสมือนหนึ่ง เป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนในพื้นที่ความขัดแย้งแห่งนี้จะมีประสบการณ์หรือมีประวัติศาสตร์ร่วมกันบางอย่างที่เป็นจุดร่วมเพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็นหรือจุดยืนเกี่ยวกับการศึกษาของเด็ก  ชาวเน็ตปาตานี/ชายแดนใต้ก็ตั้งประเด็นในโพสต์กันคึกคัก บางคนคอมเม้นต์ดุเดือด บางคนแชร์เฉย ๆ บางคนก็แซะพอหอมปากหอมคอ ข้อความที่เป็นจุดเริ่มต้นของไวรัลในครั้งนี้ คือ คำถามที่ว่า “อยากถาม ทำไม ผู้ปกครองไม่ส่งลูกไปเรียนตาดีกา” 

.

ผู้เขียนสนใจในประเด็นตาดีกา ที่กำลังเป็นไวรัล แต่ก็ไม่ถึงขนาดติดตามทุกโพสต์ทุกความคิดเห็นที่ปรากฏบนแพล็ตฟอร์มเฟสบุค เพียงแค่จะร่วมแลกเปลี่ยนผ่านบทความนี้ ในฐานะเคยมีประสบการณ์สมัยเด็กที่ได้ร่ำเรียนผ่านโรงเรียนตาดีกามาจนกระทั่งอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษายาวีและรูมี อีกทั้งความรู้ศาสนาเบื้องต้นก็ได้มาจากตาดีกา

.

ข้อมูลในการศึกษาประเด็นตาดีกามีข้อจำกัดบางประการที่ยังต้องใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจระดับหนึ่งในการสัมภาษณ์แหล่งข้อมูลบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับตาดีกา ซึ่งจากการสำรวจของมูลนิธิศูนย์ประสานงานโรงเรียนตาดีกาจังหวัดชายแดนใต้ (PERKASA) ย้อนไปยังปี พ.ศ. 2558 หรือเมื่อเก้าปีที่แล้ว มีโรงเรียนตาดีกามีทั้งหมด 2,373  แห่ง ครอบคลุมทั้ง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ซึ่งมีจำนวนเด็กนักเรียนมุสลิม 250,000 คนที่เรียนตาดีกา ส่วนเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอย่างมากเพราะมีการใช้ถึง 8 หลักสูตร ในพื้นที่แค่เพียงห้าจังหวัดชายแดนใต้นี้ แทนที่ควรจะมีแค่หลักสูตรเดียวกันหมด 

.

ระบบการศึกษาของตาดีกา คือการจัดการกันเองของชุมชน ของประชาชนด้วยกัน แต่เมื่อทางการได้เข้ามาแทรกแซงผ่านตัวบทกฎหมาย ผ่านหน่วยงานกระทรวงการศึกษา ปัญหายิบย่อยจึงได้อุบัติขึ้นตามมาและสะสมความซับซ้อนด้วยมุมมองของแว่นตาฝ่ายความมั่นคงที่หวาดระแวงมาโดยตลอดว่า “ตาดีกา” คือสถาบันที่บ่มเพาะเชื้อของแนวคิดแบ่งแยกดินแดน 

.

ซึ่งเป็นแนวคิดคนละเรื่องกับการมองปัญหาของเหล่าผู้สอนที่เกี่ยวข้องกับตาดีกา เพราะพวกเขานั้นมองปัญหาไปที่การจัดการระบบที่เป็นอยู่ เพื่อรักษาตาดีกาให้คงอยู่ในสังคมมุสลิมต่อไป

.

เรื่องนี้สอดคล้องกับการระดมความเห็นเมื่อหลายปีมาแล้ว ในงานเสวนาที่จังหวัดยะลา ครูสอนตาดีกาเคยมีข้อเสนอต่อภาครัฐ เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนอิสลามศึกษา และแก้ปัญหาความซ้ำซ้อน เช่น 

1. รัฐจะต้องปรับปรุงและพัฒนาให้หลักสูตรอิสลามศึกษาที่ใช้ในโรงเรียนของรัฐ กับหลักสูตรการเรียนการสอนที่ใช้ในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ให้เหมือนกัน.  

2. ให้รัฐสนับสนุนในเรื่องสวัสดิการแก่ครูผู้สอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐกับครูผู้สอนในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น

3. รัฐจะต้องวางแผนในเรื่องกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนร่วมกัน แก่ครูผู้สอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐ กับครูผู้สอนในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งโรงเรียนของรัฐและตาดีกาจัดกิจกรรมที่เหมือนๆ กัน

.

แน่นอนว่าข้อเสนอดังกล่าวนี้ ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ได้รับไปพิจารณาก่อนที่จะเงียบหายไปจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งหากมองดูในเนื้อความที่เป็นข้อเสนอจากการระดมความเห็นของครูผู้สอนตาดีกาแล้ว ปัญหาหนึ่งที่บุคคลากรในระบบตาดีกากำลังประสบคือการไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากชุมชนของตัวเอง 

.

เพราะสมัยก่อนชุมชนจะมีส่วนร่วมกับตาดีกาเป็นอย่างมาก ในแต่ละชุมชนจะมีคนเก่งศาสนาที่สอนอยู่ในชุมชน ที่ชาวบ้านให้การยอมรับ แต่คนเหล่านี้ไม่มีส่วนร่วมไม่เอาตัวเองไปเกี่ยวกับตาดีกา เพราะประเด็นการถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายความมั่นคงหลังจากมีเหตุการณ์ปล้นปืนปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา 

.

โดยเฉพาะครูผู้ชายจะเลิกไปสอนตาดีกาเพราะความกลัวว่าจะเป็นผู้ต้องสงสัยของทหาร ตาดีกาจึงเลยอยู่ในมือของคนที่มีศักยภาพที่ไม่เหมือนกับบุคลากรเดิม  คุณภาพก็เลยลดลงเนื่องจากไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพและก็ไม่มีไอเดียที่จะพัฒนาศักยภาพตัวเอง ที่สอนไปเพราะจิตสำนึกต่อชุมชนต่อสังคม “คือต้องสอน” จะให้เด็กไม่มีการเรียนการสอนไม่ได้ 

.

เมื่อมีระบบคิดเช่นนี้ จึงมีความแตกต่างกับครูโรงเรียนของรัฐ เพราะโรงเรียนของรัฐจบมาโดยตรง โรงเรียนของรัฐรู้ว่าครูต้องพัฒนาตรงไหน แต่ครูตาดีกาอยู่ได้เพราะพลังใจและความรับผิดชอบ ความจำเป็นในเชิงความเชื่อทางศาสนา เรื่องบาปบุญคุณโทษที่แรงกล้า ที่ต้องรับผิดชอบ ครูตาดีกาเลยสอนทางเดียว  รูปแบบเดียวกับสมัยก่อนเป็นอย่างไรก็คืออ่านตาม ประกอบกับสิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อมของโรงเรียนดีกว่าอยู่แล้วในแง่ของหนังสือก็ขาวดำ ในแง่ขอสื่อก็ไม่มี อาคารเรียนก็เก่า ๆ แตกต่างกันเยอะกับโรงเรียนรัฐ จึงไม่แปลกที่ทำให้มีคนตั้งข้อสังเกตว่าตาดีกาปัจจุบันมีคุณภาพต่ำกว่าตาดีกาสมัยก่อน 

.

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ฮาซัน ยามาดีบุ :ประธาน Bunga Raya Group Patani ที่ทำงานประเด็นการจัดโครงการยกระดับโรงเรียนตาดีกา ให้ความเห็นว่า “ที่จริงแล้วความสำคัญของตาดีกา ยุคก่อนหรือยุคปัจจุบัน ความสำคัญต่างกันอย่างมาก” 

ฮาซันชี้ว่า “มีความสำคัญคนละอย่างกันแล้ว ถ้าตั้งแต่การก่อตั้งตาดีกาเป้าหมายก็เพื่อสิ่งหนึ่ง แต่พอมาปัจจุบันกลับกลายเป็นความสำคัญหรือเป้าหมายของตาดีกาเป็นอีกอย่าง บ่งบอกว่ายุคก่อนกับยุคหลัง แตกต่างกันอย่างไรในแง่ของคุณภาพดีหรือไม่ดี มันก็พูดยากในแต่ประเด็น  แต่ความสำคัญในอดีตเพราะมีตาดีกา จึงทำให้พวกเราเป็นอย่างที่เป็น  หมายความว่าตาดีกาสร้างคนให้มี Basic Islamic ตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วอ่านอัลกุรอ่านได้ ในยุคปัจจุบันนี้ผลพวงจากการมีตาดีกาแต่ก่อนทำให้พวกเรามี Basic Islamic ในหัวใจ รู้จัก Jati diri melayu (มีความเป็นมลายู)”

ฮาซัน กล่าวสรุปว่า “ความคิดส่วนตัวตาดีกาไม่ควรมีในปาตานีอีกแล้ว ผมเองก็มั่นใจแบบนั้นเหมือนกัน แต่ว่าทางออกที่ผมเห็นก็คือทำอย่างไรให้ตาดีกา ต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นโรงเรียน เป็นโรงเรียนทางการ เหมือนโรงเรียนอามานะศักดิ์ [*] เหมือนโรงเรียนเอกชนของคนมุสลิมที่มีอยู่ตอนนี้ แต่ว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้คนรวยทำโรงเรียนเอง เป็นของตัวเอง คนที่มีโอกาสทางสังคม มีฐานะที่ดีเท่านั้นที่ไปโรงเรียนแบบนี้ได้ 

จะทำยังไงให้ทุกมัสยิด ทุกตาดีกา เปลี่ยนตัวเองเป็นโรงเรียนเอกชน เด็กได้เรียน 5 วันและสามารถบูรณาการเหมือนไปเรียนปอเนาะ เราไม่ได้เรียนสามัญอย่างเดียวเราเรียนศาสนาด้วย  และที่สำคัญเด็กเราก็สามารถพักได้ 2 วัน ใน 1 อาทิตย์ นี่ไงที่จริงแล้ว คนสมัยก่อนอยากทำแบบนี้ สิ่งที่เขาต้องการเพื่อพัฒนาคนปาตานี 

นั่นแหละถึงรู้สึกว่าถึงอย่างไรจะพัฒนาตาดีกาอย่างไรก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเรียนแค่ 2 วัน พยายามแค่ไหนก็ไม่พอ เพราะมันแค่ 2 วัน และจะพัฒนาขนาดไหนก็ไม่ถึงขีดตราบใดที่เป็นแค่ศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิดตามพรบ. ไม่ใช่โรงเรียน”  ฮาซัน กล่าว

.

ครูสอนตาดีกาคนหนึ่ง ไม่ขอระบุนาม ให้ความเห็นว่า “ตาดีกานี้เราจะต้องดูว่าเรามองในมุมไหน ถ้าในมุมของคนมลายูกับมุมของคนทั่วไป ในมุมมองคนมลายูรู้สึกแย่เพราะการแทรกแซงของรัฐ เป้าหมายของรัฐก็คือมีวัตถุประสงค์ก็คือจะชูชาตินิยมไทย เมื่อชาตินิยมไทย หมายถึง รัฐกำลังแทรกแซง ทางวัฒนธรรม 

เพราะในอดีตตาดีกาเป็นรากฐานที่สำคัญที่บ่มเพาะเยาวชนให้เติบโตในสายมลายูนิยม ในเรื่องของภาษา เรื่องวัฒนธรรม  เรื่องแนวความคิด ตาดีกานี้เป็นศูนย์เพาะชำแรก เมื่อรัฐเข้ามาแทรกแซงทำให้การเพาะชำตรงนั้นต้องเปลี่ยนแปลงจากเดิม 

แต่ถ้าเรามองในแง่ทั่วไป สายตาของคนทั่วไป รู้สึกดีขึ้นเพราะมีความเป็นระบบมากขึ้น เมื่อก่อนตาดีกาจะสอนในรูปแบบของจิตอาสา ผู้สอนก็จะเป็นเด็กปอเนาะตามมีตามเกิด แค่สอนให้เรียนรู้อ่านออกเขียนได้แค่นั้นเอง แต่ไม่ได้ใช้หลักการศึกษาในรูปแบบใหม่ เปิดหนังสือให้อ่าน เด็กก็อ่านเสร็จแค่นั้น โดยไม่มีการประเมิน ไม่มีแบบร่วมสมัย  

โดยสรุปแล้วการที่รัฐเข้ามาจัดการหน่วยงานทางการศึกษาเข้ามาดูแลทำให้มีระบบมากขึ้น ซึ่งอยู่ที่มุมมองถ้าดูในมุมของของชาตินิยมมลายูก็เป็นข้อด้อย แต่ในมุมมองคนทั่วๆไปก็มีการพัฒนาขึ้น” ครูสอนตาดีกาคนหนึ่ง ไม่ขอระบุนาม กล่าวไว้

.

ปัจจุบันสถานะของตาดีกา ที่ถูกมองจากฝ่ายความมั่นคงอย่างระแวดระวัง และเฝ้าจับตาทุกความเคลื่อนไหวของบุคลากรของตาดีกา ทำให้การแก้ปัญหาของคนที่ขับเคลื่อนตาดีกาต้องยุ่งยากเป็นอย่างมาก ไหนจะพะวงเรื่องของความเสื่อมถอยในระบบตาดีกา ไหนจะพะวงเรื่องของการถูกเหมารวมเป็นผู้ต้องสงสัยของทหาร ทั้งนี้พวกเขาต้องรับศึกรอบด้าน จึงทำให้ตาดีกาเป็นสถาบันที่รองรับเรื่องของการต้านทาน ตั้งรับทางอุดมการณ์ ปกปักษ์รักษาให้คงอยู่ หากทว่าไม่มีแรงที่จะขยับเพื่อทำงานด้านเชิงรุกไปมากกว่านี้ 

ตาดีกาไม่ได้มีมิติของความเป็นรัฐแต่มีความเป็นมิติของความเป็นชาติ อยู่ที่การอธิบาย ตาดีกาไม่ได้สอนเรื่องปาตานี แต่ตาดีกาสอนเรื่องมลายู เรื่องอิสลาม แต่คนที่สอน คือครูตาดีกานั้นคือคนที่มีมิติเรื่องรัฐ 

.

ตาดีกาไม่ใช่เป็นมิติของการสู้ ไม่ใช่เป็นการขยับไปข้างหน้า แต่ตาดีกาเป็นมิติของการรักษาคงไว้กลัวจะหายไป พอเป็นมลายูแล้วกลัวจะถูกกลืนด้วยโรงเรียนรัฐ ไม่ใช่เพื่อการต่อสู้แต่เพื่อรักษา

.

สุดท้ายตาดีกาเป็นสถาบันที่อยู่ภายใต้โครงสร้างมหาดไทย มัสยิดอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย นี้คือสิ่งที่แปลกมาก ถ้าจะเรียกร้องการพัฒนาจากรัฐมันก็ยากเหมือนกัน มันอยู่ในโครงสร้างมหาดไทยไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ จะพัฒนาในปาตานีก็ไม่มีอำนาจจริง ๆ ในแบบที่เคยเป็น ในแบบที่เป็นของชุมชนจริง ๆ ก็ไม่มี

.

ดังนั้นสถานะของตาดีกาในบริบทของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ที่ยังไม่คลี่คลายความขัดแย้งจากความรุนแรง ก็คงยากที่จะสร้างการพัฒนาให้เป็นสถาบันที่มีความมั่นคงในเชิงวิชาการและเพียงแค่การรักษาสถาบันการศึกษานี้ให้คงอยู่ต่อไปก็ดูท่าว่าจะเป็นสิ่งที่ท้าทายของคนที่จะปกปักษ์รักษาตาดีกาให้คงอยู่ในอนาคต             

.

เชิงอรรถ (footnote)

[*] โรงเรียนอามานะศักดิ์ ที่ตั้ง ต.ตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ก่อตั้งดำเนินการสอนในปี 2533 โดยเริ่มตั้นตั้งแต่อนุบาลปีที่ 1 และขยายขึ้นปีละชั้นในนาม โรงเรียนอนุบาลอามานะศักดิ์ จนถึง ปีการศึกษา 2536 ได้ขยายถึงระดับประถมศึกษาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนอามานะศักดิ์.

[ ] สัมภาษณ์. ฮาซัน ยามาดีบุ :ประธาน Bunga Raya Group Patani.

[ ] สัมภาษณ์. ครูสอนตาดีกาคนหนึ่ง ไม่ขอระบุนาม.