จากปฏิบัติการปิดลัอม ปะทะ หรือที่ใช้คำว่า เข้าบังคับใช้กฎหมาย 6 วัน ในพื้นที่บ้านคลองช้าง ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.67 – 1 ส.ค.67 จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย และวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยได้ 3 ราย
.
เสียงตะโกน “ปาตานี เมอร์แดกอ” ก็ดังขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับการแบกหามศพ ผู้เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทย หรือที่ฅนในพื้นที่เรียกการเสียชีวิตด้วยกระบวนการนี้ว่า “ชาฮีด”
.
การยืนยันการเสียชีวิตว่าเป็น “ชาฮีด” ของนักต่อสู้ขบวนการเอกราชในปาตานีเป็นเรื่องที่ได้รับการรับรู้และการยอมรับในบางกลุ่มผู้รู้ทางศาสนา กลุ่มนักต่อสู้ และในระดับชุมชนเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่เกิดการปะทะจนมีผู้เสียชีวิตด้วยสถิติที่มีจำนวนมากผิดปกติ เนื่องจากบริบททางการเมืองและความขัดแย้งในปาตานีเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและอ่อนไหว การยืนยันเช่นนี้มักขึ้นอยู่กับการตีความของกลุ่มหรือชุมชนที่เกี่ยวข้อง และอาจไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายนักต่อสู้ปาตานีจะต้องรอรับฟังคำวินิจฉัยจากหน่วยงานของรัฐไทยหรือกลไกสถาบันทางศาสนาอิสลามที่มีความเป็นทางการในสังคมไทย
.
อย่างไรก็ตาม การตีความและมุมมองเรื่องนี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน ซึ่งบางกลุ่มอาจมองว่าการต่อสู้ในปาตานีเป็นการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของชาวมุสลิมในพื้นที่ จึงถือว่าเป็นการเสียสละเพื่อศาสนาและสามารถนับว่าเป็น “ชาฮีด” ในขณะที่บางกลุ่มอาจมองต่างออกไป
.
ในมุมมองของฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทย คำว่า “ชาฮีด” อาจถูกมองในแง่ลบมากกว่าที่จะเป็นเกียรติยศ เนื่องจากถูกเชื่อมโยงกับกลุ่มนักต่อสู้หรือกลุ่มขบวนการเอกราชปาตานีที่มีบทบาทในความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี และการที่ประชาชนในพื้นที่ยกย่องผู้เสียชีวิตว่าเป็น “ชาฮีด” อาจถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและการรักษาความสงบเรียบร้อยของรัฐ
.
ปฏิบัติการปิดล้อม ปะทะ ถูกอ้างด้วยการใช้คำว่า “บังคับใช้กฎหมาย” ของฝ่ายความมั่นคง การปิดล้อมและการปะทะที่นำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรมของผู้ต้องสงสัยในปาตานี เป็นการทำลายบรรยากาศที่ส่งผลเสียต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ ปฏิบัติการเช่นนี้ยังทำลายความไว้วางใจของฅนในพื้นที่ ที่มีความรู้สึกไม่ไว้วางใจและระแวงหวาดกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอาจจะยิ่งเพิ่มความแตกแยกระหว่างรัฐและชุมชน และยิ่งบั่นทอนความพยายามในการสร้างสันติภาพ ทำให้กระบวนการเจรจาสันติภาพยิ่งยากขึ้น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายขาดความมั่นใจในการร่วมมือกัน
.
โดยภาพรวม การใช้วิธีการที่มุ่งเน้นการปราบปรามด้วยความรุนแรงมากกว่าการเจรจาสร้างความเข้าใจอาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ปาตานี การที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทยยังคงใช้วิธีการปราบปรามด้วยการปิดล้อมและการวิสามัญฆาตกรรมอย่างต่อเนื่องโดยไม่ทบทวนวิธีการ อาจด้วยความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของการปราบปรามด้วยอาวุธ เจ้าหน้าที่อาจเชื่อว่าการใช้กำลังช่วยควบคุมสถานการณ์ได้ และช่วยลดความเสี่ยงจากการก่อเหตุร้ายได้
.
หากใช้กระบวนการทางการทหารแก้ปัญหาความขัดแย้งในปาตานี ย่อมมีทางเลือกไม่กี่ช่องทาง และอาจเป็นแนวทางเดียวคือการปราบฝ่ายตรงข้ามด้วยอาวุธ ซึ่งขาดแนวทางหรือวิธีการอื่นที่มีประสิทธิภาพในสายตาระดับของผู้ปฏิบัติการ จึงมีความจำเป็นที่การแก้ไขปัญหาความรุนแรง ต้องควบคู่กับงานทางการเมือง
.
ผลลัพธ์จากปรากฏการ “ชาฮีด”
จำนวนเยาวชน และชาวบ้านนับพันฅน ออกมาร่วมขบวนหามศพ จากบ้านผู้เสียชีวิตไปถึงกูโบร์(สุสาน) พร้อมกับการตะโกนกล่าว ตักบีรฺ “อัลลอฮฺ ฮูอัคบัรฺ” (อัลลอฮฺผู้ยิ่งใหญ่) และ “ปาตานี เมอร์แดกอ” เป็นความกังวลของฝ่ายความมั่นคง ต้องเฝ้าระวังจับตามองการออกมาของเยาวชนจนมีคำสั่งให้ตั้งด่านสกัดเก็บข้อมบุคคลผู้ที่จะมาร่วมพิธีโดยไม่ให้รู้สึกว่าเป็นการตรวจเข็ม และคำสั่งให้เพิ่มความระมัดระวังป้องกันการตอบโต้กลับ
.
ปฏิบัติการทางการทหารจากฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทย จนเกิดความสูญเสียต่อชีวิต
ด้วยการวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่ปาตานีหลายครั้งมักเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับนโยบายหรือการกำหนดทิศทางของฝ่ายความมั่นคง หรือเรียกว่า “การฆ่าโดยมีเป้าหมาย” (Targeted Killing) และ “การสังหารนอกกฎหมาย” จนกลายมาเป็นปฏิบัติการที่เป็นมาตรฐาน ในการกำจัดฝ่ายคู่ขัดแย้ง หรือเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนได้โดยปราศจากการตรวจสอบ และเอาผิดไม่ได้
.
“การสังหารนอกกฎหมาย” จะยิ่งเพิ่มความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเพื่อตอบโต้หน่วยงานความมั่นคงของรัฐ โดยขบวนการเอกราชปาตานี จะเป็นการกระตุ้นความโกรธเคืองของประชาชนให้เข้าร่วมสนับสนุนขบวนการฯเพิ่มมากขึ้น และยิ่งทำให้ปาตานี/ชายแดนใต้ ยิ่งห่างไกลกับคำ “สันติภาพ” แม้รัฐไม่ต้องการ แต่ประชาชนในพื้นที่โหยหา
…