การดำเนินการตาม JCPP ในระดับพื้นที่เป็นไปได้จริงหรือไม่

APAKAH JCPP MENJADI REALITI UNTUK MEREALISASI DI LAPANG

.
วารสาร SURAT ฉบับที่ 106 กรกฎาคม 2024 หน้าที่ 8-9
แปลโดย ชินทาโร่ ฮาร่า

.
กรอบ JCPP (แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม) เป็นพื้นฐานสำหรับดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ หรือเป็นแนวทางในการนำมาปฏิบัติ (implementation) สำหรับ (ข้อตกลงใน) กระบวนการสร้างสันติภาปาตานี JCPP ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาให้เป็นฉบับสมบูรณ์อยู่ ก่อนหน้านั้น การประชุมทีมเทคนิคระหว่างฝ่ายบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยหลายต่อหลายครั้งนั้นไม่มีความคืบหน้า

แต่ในการประชุมครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 11) ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงประเด็นหัวข้อหรือกรอบของ JCPP เป็นครั้งแรก และเริ่มมีความคืบหน้าบนโต๊ะเจรจา ทั้งแม้ว่ายังไม่นำไปสู่การดำเนินการระดับพื้นที่ความขัดแย้งก็ตาม อย่างไรก็ตาม การลงนามของคณะพูดคุยทั้งสองฝ่าย บีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยใน JCPP ในเดือนกันยายนดังที่ถูกชี้แจงมาโดยผู้อำนวยความสะดวกก่อนหน้านั้น (ตัน ศรี พล.อ. ซุลกิฟลี) คงไม่ทัน เนื่องจากยังต้องพูดคุยรายละเอียดและประเด็นสำคัญอีกหลายประเด็น

แต่ (การลงนาม) อาจเกิดขึ้นในเวลาไม่นานก็ได้หากการพูดคุยไม่เจอกับทางตัน โดยสรุปก็คือ การลงนามจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของกระบวนการนั้นเอง
.
หากการผลิต JCPP เสร็จเรียบร้อยและได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเพื่อนำมาปฏิบัติในระดับพื้นที่แล้ว คำถามก็คือ กรอบ JCPP นั้นจะสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ ในการประชุมทีมเทคนิค มีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ หลายประเด็น และหนึ่งในประเด็นที่กลายเป็นประเด็นร้อนในการพิจารณาระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่ายก็คือ การลดและการยุติการใช้ความรุนแรง
.
ฝ่ายบีอาร์เอ็นยืนหยัดในการใช้คำว่า การยุติการเป็นปรปักษ์กัน (cessation of hostilities, COH) ส่วนรัฐบาลไทยยึดมั่นในคำว่า การลดปฏิบัติการ (หรือการลดการใช้ความรุนแรง reduction of violence, ROV) ในที่นี้ คำว่า การยุติ เป็นศัพท์ที่เหมาะสมกว่าที่จะใช้ในการแสวงหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งด้วยอาวุธ การยุติ หมายถึงการหยุด (stop) ปฏิบัติการทุกรูปแบบที่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง

ดังเช่น ปฏิบัติการทางการทหาร การข่าวกรอง/หาข่าว การยกเลิกกฎหมายความมั่นคง ฯลฯ ซึ่งดำเนินการภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น ระยะกลางหรือระยะยาว ส่วนคำว่า “การลด” นั้นไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับให้เป็นกรอบการทำงานทั้งสองฝ่าย มันแค่ให้เกิดความสับสน (confuse) ในการดำเนินการ (คำถามก็คือ หากเอาคำว่า) “การลด” นั้นจะเริ่มต้นจากไหนเพื่อวัดการลดนั้น และการลดนั้นจะติดตาม (monitoring) อย่างไร ทีมติดตาม (monitoring team) จะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์โดยภาพรวมเกี่ยวกับการฝ่าฝืน (ข้อตกลง) ของทั้งสองฝ่าย (แต่หากมีข้อตกลงใน) การลดการใช้ความรุนแรงอย่างเดียวก็เสมือนปล่อยให้เหตุรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
.
ณ ตอนนี้ ทั้งสองฝ่ายกำลังพูดคุยการยุติการใช้ความรุนแรง และประเด็นสารัตถะที่ถูกบันทึกไว้ใน JCPP ได้แก่แนวทางแก้ไขทางการเมือง การปรึกษาหารือกัน และการยุติการเป็นปรปักษ์กัน (cessation of hostilities, COH) ต้องเกิดขั้นในพื้นที่ความขัดแย้งที่ปาตานี ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างสถานการณ์ที่เอื้อต่อการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ (โดยเปิดพื้นที่ทางการเมืองและรับรองความปลอดภัยของผู้เข้าร่วม) และการปรึกษาหรือกันก็ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการหยุดยิง การปรึกษาหารือกับประชาชนจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นกับประชาชนในพื้นที่ได้ว่า กระบวนการสันติภาพมีความคืบหน้าจริง
.
ส่วนวัตถุประสงค์ของการปรึกษาหารือกับประชาชนคือการรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ (ประชาคมปาตานี) ส่วนประเด็นที่ปรึกษาหารือกันนั้นคือประเด็นสารัตถะที่บันทึกไว้ในเอกสาร “หลักการทั่วไป” ที่ได้รับความเห็นชอบจากคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายก่อนหน้านั้น ได้แก่

1. รูปแบบการปกครอง
2. การยอมรับอัตลักษณ์
3. การศึกษาและวัฒนธรรม
4. เศรษฐกิจและการพัฒนา
5. กระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย และ
ความมั่นคงและความปลอดภัย
.
กระบวนการสันติภาพรอบนี้ก็มาถึงขั้นตอนที่จำเป็นต้องทำให้กรอบการทำงานของ JCPP มีความสมบูรณ์แบบ คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายก็ทำงานอย่างจริงจังเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ และแต่ละฝ่ายก็ต้องมีความจริงใจเพื่อแก้ไขความขัดแย้งยังมีศักดิ์ศรี ดังนั้น ทุกฝ่ายก็ต้องตระหนักถึงคุณค่าของ JCPP ในการขับเคลื่อนกระบวนการไปข้างหน้า

.
หมายเหตุ : แปลจาก วารสาร SURAT ฉบับ 106 เดือนกรกฎาคม 2024 หน้าที่ 8-9 แปลโดยชินทาโร่ ฮาร่า ซึ่งทาง The Motive เล็งเห็นถึงประโยชน์จากบทความดังกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพปาตานีจากมุมมองของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ และได้รับอนุญาตการแปลความจากกองบรรณาธิการของวารสาร SURAT ซึ่งเป็นวารสารภาษามลายู (รูมี-ยาวี) ที่เผยแพร่อยู่ในต่างประเทศและพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ในรูปแบบของไฟล์พีดีเอฟ มีลักษณะของการส่งต่อในอีเมลล์ เพื่อสื่อสารเรื่องราวสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการเอกราชปาตานีในปัจจุบัน