รัฐบาลไทยไม่มีเอกภาพในการแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานี

รัฐบาลไทยไม่มีเอกภาพในการแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานี

RTG TIDAK ADA PENYELARASAAN DALAM PENYELESAIAN KONFLIK DI PATANI
.
วารสาร SURAT ฉบับที่ 107 สิงหาคม 2024 หน้าที่ 6-7
แปลโดย ชินทาโร่ ฮาร่า

.
ความขัดแย้งยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องที่ปาตานี ซึ่งเป็นดินแดนที่ครอบคลุมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล กับอีกห้าอำเภอของจังหวัดสงขลาได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อยและสะเดา ความขัดแย้งครั้งนี้เป็นประเด็นสำคัญสำหรับการปกครองตนเองของประชาคมปาตานี ในขณะเดียวกันยังส่งผลลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐเจ้าของอาณานิคมไทย
.
หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งคือสถาบันสำคัญของประเทศนักล่าอาณานิคมไทย ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาคที่สี่ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาคสี่) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ถึงแม้ว่าแต่ละฝ่ายมีบทบาทสำคัญ แต่ยังขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน
.
สภาพเช่นนี้มักจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของกระบวนการเจรจาสันติภาพและการแสวงหาแนวทางแก้ไขทางการเมืองสำหรับความขัดแย้งอันยาวนานที่ปาตานี
.
– กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาคที่สี่ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาคสี่) –
.
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาคที่สี่ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาคสี่) เป็นหน่วยงานหลักสำหรับปฏิบัติการทางการทหาร และยังคุกคาม กดขี่ และทำทารุณกรรมต่อประชาชนโดยอาศัยกฎหมายความมั่นคง และมีส่วนรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่ปาตานีทุกครั้ง
.
หน้าที่หลักของ กอ.รมน.ภาคสี่ คือการวางแผนยุทธศาสตร์และดำเนินปฏิบัติการเพื่อปราบปรามนักต่อสู้ปลดปล่อยปาตานี โดยมีฝ่ายทำงานด้านความมั่นคงและฝ่ายทำงานพิเศษเพื่อควบคุมสังคมปาตานีและป้องกันการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนปาตานีเพื่อกำหนดชะตากรรมด้วยตนเอง
.
หนึ่งในปัญหาที่ชัดเจนก็คือ ระหว่าง กอ.รมน.ภาคสี่ กับหน่วยงานอื่น ๆ ไม่มีการประสานงานกันเลย ปฏิบัติการของ กอ.รมน.ภาคสี่ มักจะขัดแย้งและสวนทางกับการสร้างสันติภาพซึ่งทำให้การเปิดพื้นที่เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (confidence building measures) ล้มเหลวมาตลอด
.
การที่ กอ.รมน.ภาคสี่ ยังขาดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพกับหน่วยงานอื่น ๆ ก็เป็นเหตุให้ปฏิบัติการของ กอ.รมน.ภาคสี่ ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ JCPP (แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์รวม) ที่เป็นประเด็นการพูดคุย ณ ตอนนี้ ซึ่งการทำงานของฝ่ายดังกล่าวทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งที่ปาตานียิ่งรุนแรงขึ้น
.
– สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) –
.
สภาความั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีบทบาทเป็นหน่วยงานวางแผนหลักสำหรับนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพและยุทธศาสตร์ระยะยาวเกี่ยวกับความขัดแย้งที่ปาตานี สมช. มีความรับผิดชอบต่อการกำหนดจุดยืน (position) ในการแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานี และประสานงานความพยายามต่าง ๆ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งกับหน่วยงานอื่น ๆ สมช. ยังต้องวางแผนความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ อย่างมีประสิทธาภพในการสร้างสันติภาพที่ปาตานี
.
สมช. มักจะประสบความล้มเหลวและความยากลำบากในการประสานงานและการขอความร่วมมือจากหน่วยปฏิบัติการระดับพื้นที่ หากไม่มีการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพจาก กอ.รมน.ภาคสี่ และหน่วยงานราชการในพื้นที่ นโยบายต่าง ๆ เพื่อสร้างสันติภาพที่รู้จักกันในนาม ความริเริ่มที่เบอร์ลิน (Berlin Initiative) ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันก็จะไม่สามารถดำเนินการได้
.
และยังมีความเป็นไปได้ว่า แผนการดังกล่าวอาจถูกทำลายโดย กอ.รมน.ภาคสี่ ในระดับพื้นที่ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้กระบวนการสันติภาพยังขาดความต่อเนื่อง (consistency) และเป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงและลงนามในข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาดังที่สอดคล้องกับความต้องการของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย
.
– รัฐสภา –
.
รัฐสภาซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกจากจังหวัดต่าง ๆ และสมาชิกวุฒิสภามีบทบาททำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อกำหนดกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพที่ปาตานี ซึ่งสามารถรับรองว่า การแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีสามารถดำเนินการได้ และรัฐสภายังมีความชอบธรรมทางด้านกฎหายเพื่อรับรองข้อตกลงสันติภาพที่ปาตานี
.
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาความสอดคล้องกันระหว่างการตัดสินใจทางการเมืองกับการดำเนินการ คณะกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพฯที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐสภาไม่สามารถสร้างผลงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อรัฐสภา เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจจจะขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่แท้จริงในปาตานี ที่เกิดจากระยะทางอันไกล (ระหว่างรัฐสภาที่กรุงเทพฯ กับจังหวัดชายแดนใต้) หรือการที่ขาดข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
.
ซึ่งเป็นเหตุให้ร่างกฎหมายสันติภาพปาตานียังไม่สามารถดำเนินได้เพื่อบรรลุความต้องการของประชาคมปาตานี ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์เช่นนี้ก็ยังเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพและมีศักดิ์ศรีอีกด้วย
.
– Kabinet Kerajaan – คณะรัฐมนตรี
.
คณะรัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหารที่มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุดเกี่ยวกับนโยบายการสร้างสันติภาพที่ปาตานี คณะรัฐมนตรีมีบทบาทสำคัญในกำหนดทิศทางนโยบายการแก้ไขความขัดแย้งและออกคำสั่งให้แก่หน่วยงานที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพปาตานี อย่างไรก็ตาม จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีการแสดงเจตจำนงทางการเมืองจากนายกรัฐมนตรีของไทยในการแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีอย่างมีศักดิ์ศรีและยั่งยืนเลย
.
การที่ขาดประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีกับหน่วยงานอื่น เช่น กอ.รมน.ภาคสี่ และ สมช. เป็นเหตุให้นโยบายที่ถูกกำหนดไม่สอดคล้องกับความต้องการอันแท้จริงของคนในพื้นที่ มติคณะรัฐมนตรีอาจจะไม่คำนวณถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากพื้นที่และความเห็นของฝ่ายที่ทำงานในการแก้ไขความขัดแย้งโดยตรง ด้วยเหตุนี้กฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก พรก. ฉุกเฉินฯ และ พรบ. ความมั่นคงยังถูกบังคับใช้ในพื้นที่เป็นเวลา 20 ปี สถานการณ์เช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นที่ปาตานี หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีเข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงในประชาคมปาตานี
.
ฝ่ายเจ้าของอาณานิคมไทยควรต้องใช้วิธีการที่มีการประสานงานและเอกภาพในทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาคที่สี่ส่วนหน้า สภาความมั่นคงแห่งชาติ รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีต้องมีบทบาทในการแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานี สภาพที่ขาดการประสานงานเช่นนี้ ระหว่าหน่วยงานเหล่านี้ มักจะเป็นอุปสรรคสำหรับการดำเนินการข้อตกลงในการเจรจาสันติภาพ
.
เพื่อแก้ไขสถานการณ์เช่นนี้ คณะพูดคุยสันติภาพฝั่งไทยที่มาจากกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ต้องประสานงานนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความริเริ่มที่เบอร์ลินและหลักการทั่วไป (ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างคณะพูดคุยของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย – ผู้แปล) นักล่าอาณานิคมไทยต้องใช้วิธีการที่มีเอกภาพและการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ และควรขับเคลื่อนเพื่อให้กระบวนการสันติภาพที่ปาตานีเป็นวาระแห่งชาติ
.
หากเป็นเช่นนั้น อาจจะมีสันติภาพที่แท้จริง ยั่งยืนและตามมาตรฐานระหว่างประเทศดังที่เกิดขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลก
.
.
หมายเหตุ : แปลจาก วารสาร SURAT ฉบับ 107 เดือนสิงหาคม 2024 หน้าที่ 6-7 แปลโดยชินทาโร่ ฮาร่า ซึ่งทาง The Motive เล็งเห็นถึงประโยชน์จากบทความดังกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพปาตานีจากมุมมองของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ และได้รับอนุญาตการแปลความจากกองบรรณาธิการของวารสาร SURAT ซึ่งเป็นวารสารภาษามลายู (รูมี-ยาวี) ที่เผยแพร่อยู่ในต่างประเทศและพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ในรูปแบบของไฟล์พีดีเอฟ มีลักษณะของการส่งต่อในอีเมลล์ เพื่อสื่อสารเรื่องราวสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการเอกราชปาตานีในปัจจุบัน