สีน้ำเงินถูกบรรจุใส่ถุงพลาสติก แล้วถูกหยิบโยน ขว้างปา ใส่ตัวศิลปิน ในการแสดงศิลปะในรูปแบบที่เรียกว่า Performance art เป็นการเปิดการแสดงนิทรรศการศิลปะ Stop Torture โดยใช้ร่างกายสื่อสารกับผู้เข้าร่วมงานสามารถความสนใจและอารมณ์ผู้เข้าร่วมได้เป็นอย่างดี การพยายามที่จะสร้างสัญลักษณ์ของการถูกทรมาน โดยการดึงทุกคนมามีส่วนร่วมในการขว้างปาสี ให้รู้สึกถึงความเจ็บปวด โดยตัวศิลปินเองจะสวมใส่ผ้าโสร่ง ผ้าเลอปัสคาดเอว มัดมือไขว้หลัง และสวมถุงดำคลุมหัว.
ศิลปินเป็นที่รู้จักกันในนาม อาจารย์เจะ หรือผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ศิลปินและอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ผู้ก่อตั้ง Patani Art Space พยายามแสดงสัญลักษณ์ของการจับกุมและซ้อมทรมาน ในขณะที่ทุกคนขว้างปาสีนั้น ไม่อาจรับรู้ได้ว่าอารมณ์แต่ละคนมีความรู้สึกร่วมอย่างไรกันบ้าง บางคนอาจจะรู้สึกเมามันสนุกกับการปาสี บางคนไม่กล้าที่จะขว้าง หรือบางคนพยายามที่จะเข้าไปห้ามแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นี่คือความรู้สึกรวมที่ศิลปินผู้นี้พยายามสะท้อนออกมา.
อ.เจะอับดุลเลาะ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะว่า “ผลงานที่จัดแสดงทั้งหมดมีอยู่ 16 ผลงาน นิทรรศการครั้งนี้เราอยากให้ทุกคนมีความรู้สึกร่วมตระหนักในประเด็นการซ้อมทรมาน เราต้องยอมรับว่าเหตุการณ์การซ้อมทรมานมันมีอยู่จริงทั่วทุกมุมโลก ทั้งในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เราอยู่จังหวัดชายแดนภาคใต้สิ่งเหล่านี้เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ นิทรรศการในครั้งนี้เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ไม่ให้เกิดการซ้อมทรมาน”.
เมื่อเดินขึ้นบันไดไปยังชั้นสองของตัวอาคารที่จัดแสดงเราจะมองเห็นโครงเหล็กถูกดัดเป็นเหมือนกรงสี่เหลี่ยม และมีหุ่นคล้ายมนุษย์อยู่ในกรงเหล็ก ประติมากรรมชิ้นนี้ชื่อว่า Torture in Patani ผลงานของ ตอฮา ศิลปินหนุ่มร่างใหญ่ตอฮา หรือ มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ เจ้าของผลงานประติมากรรม “Torture in Patani การซ้อมทรมานในปาตานี” เล่าถึงแนวคิดในงานศิลปะที่กำลังถูกตั้งโชว์ว่า เขาสนใจในงานประติมากรรม พอเป็นงานประติมากรรมก็ต้องให้ความสำคัญถึงวัสดุ วัสดุที่เอามาใช้ต้องสื่อถึงความหมาย การตีความ และมีแนวคิดแฝงอยู่ในวัสดุนั้น.
ตอฮา ได้นำเอาผ้าเลอปัสมาใช้ ซึ่งเป็นผ้าที่คนปาตานีใช้ในชีวิตประจำวัน กับเหล็กเส้น โดยเอาผ้าเลอปัสเย็บเป็นร่างมนุษย์แล้วเอานุ่นยัดเขาไปให้เป็นกายภาพของมนุษย์ แล้วเอาเหล็กเส้นทิ่มแทงบนตัวผ้าที่เป็นรูปร่างมนุษย์”ต้องการสื่อสารให้เห็นระหว่างสิ่งที่นุ่มนวลกับสิ่งที่แข็ง เป็น 2 อย่างที่ขัดแย้งกันมาก และแน่นอนเมื่อมีการเสียบแทงบนร่างกายย่อมมีความเจ็บปวด ยิ่งไปกว่านั้นความเจ็บปวดในจิตใจ ความเจ็บปวดบนร่างกายเป็นแผลอาจจะหาย พอพูดถึงความเจ็บปวดทางด้านจิตใจอาจจะไม่มีวันหาย เขาจะเจ็บปวดจนวันตาย” ตอฮา.เมื่อหันหลังจากผลงานของตอฮา บนผนังตรงข้ามเราจะมองงานศิลปะบนผ้าใบชิ้นใหญ่ มีรูปเท้าอยู่ข้างบนขนาดใหญ่ งานชิ้นนี้เป็นผลงานของ กร หรือ กรกฎ สังข์น้อย ศิลปินเจ้าของผลงานชื่อว่า “Under ใต้”การใช้หมึกจีน สีอะคริลิค ทองคำเปลว บนผืนผ้าใบในการสื่อสาร สะท้อนถึงการที่มนุษย์อยู่ภายใต้อำนาจบางอย่าง การอยู่ภายใต้อำนาจจนสยบยอม ไม่มีผู้ใดกล้าที่จะลุกขึ้นมาตั้งคำถาม กระทั่งมีคนศรัทธาจนถึงขั้นงมงายในอำนาจนั้น ทำให้อำนาจนั้นมีรูปธรรมทำขึ้นมากร ได้เล่าถึงความหมายของงานชิ้นนี้ว่า “งานศิลปะที่สะท้อนถึงอำนาจที่เป็นเพียงแค่ภาพร่าง ไม่ได้มีการลงสี มันไม่มีตัวตนอยู่จริง มันเป็นเพียงบางสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นให้มนุษย์แบกรับเอาไว้ มันจึงค่อยๆเติบโตจากมายาคติ ที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้นมาเองเรากำลังพูดถึงความเป็นจริงที่มีอยู่ ไม่ได้เฟคขึ้นมา อาจจะใช้ความสวยงาม สัญลักษณ์แต่เรื่องทั้งหมดมันมีอยู่จริง ถ้าคนดูชิ้นนี้ใช้เวลาในการเสพงานมากพอ อาจจะมีอะไรบางอย่างที่สะท้อนกลับมา” กร.
อีกผลงานที่สะท้อนถึงรูปแบบการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วยการสื่อสารผ่านนกเขา งานศิลปะในชื่อชิ้นงานที่ว่า “ความเจ็บปวดที่ปาตานี” ผลงานสร้างสรรค์โดยศิลปินที่ขื่อ มูฮัมหมัดซุรียี มะซู ผลงานที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของผู้ที่ถูกซ้อมทรมาน ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีความหวาดกลัว วิตกกังวลไม่ไว้วางใจในการดำเนินชีวิต
“ผมใช้นกเขาเป็นสัญลักษณ์ในการแทนผู้คนที่นี่ แล้วหยิบสถาปัตยกรรมมลายูมาฉลุไว้บนตัวนก มาใส่ไว้ในถุง พร้อมกับตัวอักษรที่บรรยายเกี่ยวกับวิธีการซ้อมทรมาน”.
ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข จนท.โครงการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงงานในครั้งนี้ว่างานนิทรรศการศิลปะ Stop Torture ที่ปัตตานี art space ในครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการใหญ่ที่ชื่อ Safe in Custody Awareness Month เป็นโครงการรณรงค์ทางศิลปะ โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (APT) มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในกระบวนการจับกุมคุมขัง ผ่านงานศิลปะและวัฒนธรรม.
งานที่จัดขึ้นที่จังหวัดปัตตานีจะเป็นการ create ของอาจารย์เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ จะมีนิทรรศการศิลปะ ส่วนที่กรุงเทพฯ จะมีขึ้นในวันที่ 18 พ.ย.นี้ โดยมีศิลปิน ตะวัน วัตุยา ที่ทำเรื่องปัญหาสังคม ปัญหาการเมือง และนักโทษทางความคิด ในครั้งนี้คุณตะวัน ได้รับฟังคำบอกเล่าเยาวชนที่ถูกกระทำและถ่ายทอดผ่านการวาดด้วยสีน้ำในงานจะมีการเปิดตัวหนังสือภาพถ่าย “Gray Zone” โดย ยศธร ไตรยศ ที่ลงพื้นที่เก็บภาพ 4 เดือนกว่า ส่วนนี้จะเป็นจำหน่ายและนำรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการซ้อมทรมานในพื้นที่ชายแดนใต้สำหรับพื้นที่ภาคเหนือมีนิทรรศการที่ชื่อว่า Safe House เป็นธีมของการจำลองห้องสอบสวน ทุกคนก็จะได้เข้ารับชมงาน.
*นิทรรศการ “STOP! TORTURE” Art Exhibition จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 พ.ย. – 5 ธ.ค. 2021 บนพื้นที่ศิลปะ Patani Artspace นิทรรศการศิลปะนี้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเทศกาลศิลปะ Safe in Custody Awareness Month ความปลอดภัยในกระบวนการที่จับกุมคุมขัง เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ความตระหนักรู้ ต่อประเด็นการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในสังคมตลอดเดือนพฤศจิกายนจากเหนือจรดใต้.