เมื่อจะศึกษาเรื่องราวของปาตานี ต้องเข้าใจก่อนว่าจักรวาลของปาตานีมีหลายแง่มุม ดังนั้นข้อเขียนนี้โดย The Motive จะกล่าวถึงเรื่องราวที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันเสียก่อน.
ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี ถือเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งของชาติไทยทางตอนใต้ปัญหาหนึ่ง ที่มีละเอียดอ่อน มีความสลับซับซ้อน ถือเป็นวิกฤตความขัดแย้งและความรุนแรง (Conflict and Violence) อีกทั้งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังคงมีความรุนแรง อย่างต่อเนื่อง .
เพราะเป็นปัญหาทางการเมืองที่มีรากเหง้ามาเป็นร้อย ๆ ปีซึ่งเป็นเรื่องของรัฐ-ชาติสมัยใหม่ (Nation-State) กับ ชาตินิยมชาติพันธุ์ (Ethnonationalism) โดยรากเหง้าของปัญหานั้นส่วนหนึ่งเป็นมรดกในยุคอาณานิคม ทําให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความยากลําบาก และยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงได้โดยง่าย .
สำหรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง คือการที่รัฐไทยยอมรับนโยบายของการเจรจาสันติภาพว่าจะเป็นหมุดหมายสำคัญเพื่อลดความรุนแรงและแสวงหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งปาตานี แม้หลายฝ่ายจะยังไม่มีความเชื่อมั่นว่านโยบายนี้จะนำไปสู่ความจริงใจต่อการแก้ปัญหาก็ตาม .
หลังปี 2547 นั้นมีการดำเนินกระบวนการเจรจาในหลากหลายช่องทางทั้งปิดลับและเปิดเผย มีจุดเริ่มต้นจริงจังเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ตากใบเมื่อเดือนตุลาคม 2547 สามารถแจกแจงห้วงเวลาได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่.
ระยะแรก 2547 – 2549 ในช่วงรัฐบาลทักษิณ โดยริเริ่มจากการพยายามทดสอบความเป็นไปได้ของการพูดคุยผ่านการประสานงานขององค์กรเอกชน แต่มาเริ่มต้นจริงจังเมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มหาเธร์ เข้ามามีส่วนในการช่วยประสานงาน .แม้จะเป็นการพบปะไม่กี่ครั้งระหว่างผู้แทนทางการไทยในระดับหน่วยงานอย่างศูนย์รักษาความปลอดภัยกับกลุ่มเคลื่อนไหวรุ่นอาวุโสจากองค์กรร่มเดิมที่มีอยู่ คือ เบอร์ซาตู (มาจาก Barisan Bersatu Kemerdekaan Patani หรือ BERSATU) ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 และรวมตัวกันในช่วง 1990 .
กระบวนการดังกล่าวรู้จักในเวลาต่อมาว่า “กระบวนการลังกาวี” โดยอิงจากสถานที่ในการพบปะของทั้งสองฝ่าย แม้จะมีแผนการดำเนินการร่วมกัน แต่ก็ไม่ได้ส่งผลใดมาก กระนั้นก็ตามก็ถือเป็นการริเริ่มในช่วงเวลาที่ความรุนแรงยังคงหนาแน่น ซึ่งเห็นได้ชัดว่ายังเป็นกระบวนการที่ยังไม่สามารถดึงทุกฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างครอบคลุม.
ระยะที่สอง 2549 – 2554 มีช่องทางหลักที่เป็นทางการและดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้การสนับสนุนโดยรัฐบาลไทยที่เรียกขานในเวลาต่อมาว่า “กระบวนการเจนีวา” (Geneva Process) เนื่องจากเริ่มต้นติดต่อและพูดคุยที่สวิสเซอร์แลนด์ผ่านการอำนวยความสะดวกโดย Center for Humanitarian Dialogue (HD) .
ในฝ่ายรัฐบาลไทยนั้นรับผิดชอบโดย สมช. ส่วนฝ่ายขบวนการต่อสู้นั้นนำโดยพูโลที่ต่อมาจัดตั้งองค์กรร่มขึ้นมาในนาม Patani Malay Liberation Movement (PMLM) มีบางห้วงจังหวะที่กระบวนการหยุดชะงักไปบ้าง เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลบางคณะ .แต่ทั้งหมดนี้ดำเนินการไปขณะที่ความรุนแรงยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มติดต่อครั้งแรก ๆ ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ก่อนที่จะริเริ่มจริงจังเมื่อได้รับการสนับสนุนแบบปิดลับในช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์หลังการรัฐประหารปี 2549 ที่หยุดชะงักไป.
ระยะที่สาม 2555 – 2556 ริเริ่มในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยมีผู้อำนวยความสะดวกมาเป็นรัฐบาลมาเลเซีย จนนำมาสู่การลงนามในเอกสารร่วมกันระหว่างผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติกับตัวแทนบีอาร์เอ็นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 นี่อาจถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่บีอาร์เอ็นเข้าร่วมการพูดคุยและมีสถานะนำอย่างเป็นทางการ .
อีกทั้งยังเป็นกระบวนการที่เปิดเผยและรับรู้ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก กระนั้นก็ตาม ด้วยเหตุที่เปิดตัว เช่นนั้นกระบวนการดังกล่าวจึงตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ก่อนที่จะยุติลงในปลายปี 2556 ท่ามกลางความตึงเครียดและความวุ่นวายทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 .อย่างไรก็ตาม การริเริ่มดังกล่าวได้เปิดฉากให้เห็นว่าการพูดคุยสันติภาพนั้นได้กลายมาเป็นทิศทางยุทธศาสตร์สำคัญอันไม่อาจหลีกเลี่ยงเบี่ยงเบนได้อีกต่อไป.
ระยะที่สี่ 2557 – 2561 การสานต่อการพูดคุยที่กัวลาลัมเปอร์ของรัฐบาลทหาร โดยเปลี่ยนชื่อจาก”การพูดคุยเพื่อสันติภาพ” ไปสู่การพูดคุยเพื่อ “สันติสุข” ในขณะที่คู่สนทนาก็เปลี่ยนจากบีอาร์เอ็นไปเป็นองค์กรร่มอย่างมาราปาตานี (Majlis Syura Patani, MARA Patani) .
โดยมีทางการมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกเช่นเดิมการพูดคุยดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและหยุดชะงักไปในช่วงประมาณปี 2561 หลังจากนั้นบทบาทของมาราปาตานีก็ลดลงและเปิดทางให้ช่องทางที่เคยดำเนินการอยู่อย่างปิดลับก่อนหน้านี้ระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นกลับขึ้นมาเป็นช่องทางที่เป็นทางการและเปิดเผยอีกครั้งหนึ่งในต้นปี 2563.
ดังนั้น ณ ปัจจุบัน กระบวนการเจรจาจึงเข้าสู่ระยะที่ห้า 2563 – ? (หรืออาจเรียกได้ว่าต่อเนื่องจากระยะที่สาม จนกระทั่งประสบวิกฤติโรคระบาดไวรัสโคโรน่าในปัจจุบัน) ซึ่งการทำความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพในปาตานี กรณีการเจรจาระลอกใหม่ หลังปีพ.ศ.2547 เป็นต้นมาคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ที่สนใจต่อประเด็นปัญหาความขัดแย้งปาตานี .
ทั้งนี้การแบ่งช่วงระยะของการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยกับขบวนการเอกราชปาตานี The Motive เพียงแค่ชี้ถึงพัฒนาการทั้งหมดนี้ในแต่ละช่วงเวลาที่สถานการณ์ในพื้นที่ปรับเปลี่ยนไป ความพยายามในการแสวงหาทางออกอย่างสันติก็ยังดำเนินอยู่ควบคู่กันไป .
สถานการณ์จึงเป็นไปในทำนองคุยไป-ยิงไปโดยส่วนใหญ่แล้วยังอยู่ในระหว่างการร่วมกันสร้างมาตรการความไว้วางใจระหว่างคู่สนทนาและรายละเอียดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอาจยังมีความซับซ้อนอีกมาก .(หมายเหตุ : ระยะหนึ่งในปี 2551 ก่อนที่จะกลับมาเดินหน้าต่อในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์ในระหว่างปี 2552 – 2554 ในช่วงที่ขาดตอนนั้นเองที่มีความพยายามริเริ่มช่องทางอื่น ๆ ขึ้นมาคู่ขนาน แต่ก็มีความคืบหน้าและต่อเนื่องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในช่วงปี 2551 มีรายงานว่ามีความพยายามเปิดช่องทางติดต่อหลากหลายและอาจเรียกได้ว่าเป็นห้วงเวลาที่มีการประชันขันแข่งกันมากที่สุด โดยมีทั้งตัวแสดงในแต่ละฝ่ายที่แตกต่างกันไป ได้แก่ การพูดคุยที่อำนวยความสะดวกโดยรัฐบาลอินโดนีเซียที่เรียกขานกันว่า “กระบวนการโบโกร์” ระหว่างคณะเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไทยกับองค์กรร่มที่ชื่อ Patani Malay Consultative Congress (PMCC) การติดต่อพูดคุยที่นำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีรายละเอียดเผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างจำกัด ยกเว้นข้อที่เรียกร้องของอีกฝ่ายที่ พล.อ.ชวลิต นำมาเปิดเผยในปลายปีถัดมา หรือแม้แต่กระบวนการที่ผลักดันโดย พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ซึ่งน่าเคลือบแคลง ขบขัน และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากหลังมีการแถลงหยุดยิงหยุดยิงฝ่ายเดียวผ่านสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในเดือนกรกฎาคมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า The United Southern Underground Group of Thailand หรือกลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้แห่งประเทศไทย ทั้งหมดนี้ รายงานของ คยส. ซึ่งจัดทำโดยบุคลากรที่มีบทบาทหลักในกระบวนการเจนีวาได้จัดวางเอาไว้ว่าเป็นการดำเนินการโดยคณะบุคคลที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง นอกจากนี้ ในปี 2553 ยังปรากฎรายงานว่ามีการพูดคุยอีกช่องทางหนึ่งระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยกับองค์กรร่มที่ชื่อ United Patani People Council (UPPC) ที่มาเลเซีย ภายใต้การสังเกตการณ์โดยองค์การความร่วมมือโลกอิสลาม (OIC) ดังนั้นแล้วควรต้องกล่าวว่ากระบวนการเจนีวานั้นมีผลไม่มากก็น้อยต่อการตกตะกอนทางความคิดและแนวทางจนนำไปสู่การผลักดันความก้าวหน้าของนโยบายแห่งชาติที่ว่าด้วยปาตานี โดยเฉพาะการระบุถึงการส่งเสริมแนวทางการพูดคุยสันติภาพอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์).