ปาตานีในอดีต : “ความเป็นไทย” ที่เจือจาง สำหรับ “ฅนมลายู”


สำหรับรัฐไทย เริ่มเรียก ฅนมลายูปาตานี ว่าเป็น “ฅนไทย” อย่างจริงจังในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนี่เอง และทันทีที่เรียกว่าฅนไทย รัฐบาลก็เริ่มใช้นโยบาย “กลมกลืนทางวัฒนธรรม” (Assimilation Policy)

หากพูดถึง ฅนมลายูปาตานี คำว่า “ปาตานี” แน่นอนอาจเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งมีการรับรู้หรือตระหนักรู้ของฅนไทยหรืออาจจะเป็นคำการเมืองตามที่นักวิชาการถกเถียงกันอยู่ แต่คำนี้ก็โลดแล่นอยู่ในสังคมจังหวัดชายแดนใต้มาหลายทศวรรษแล้ว ซึ่งสำหรับฅนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้นั้น มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากฅนไทยทั่วไป อย่างน้อย 3 ประการ หนึ่ง) เชื้อชาติมลายู ภาษามลายู สอง) ศาสนา-วัฒนธรรมอิสลาม สาม) ประวัติศาสตร์อาณาจักรปาตานี

ความที่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ จึงมีปรากฏการณ์ที่ทำให้พื้นที่ความขัดแย้งปาตานี/ชายแดนใต้ปัจจุบัน มีการแสดงออกอย่างกว้างขวางของคนรุ่นใหม่ ถึงการสร้างพื้นที่การมีตัวตนของฅนมลายู ผ่านกิจกรรมในสังคม อาทิ การแต่งกาย ศิลปะการป้องกันตัว(ปันจักสีลัต) การละเล่น อาหาร หรือ วัฒนธรรมอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนพร้อมที่จะถูกจุดเป็นกระแสได้ไม่ยาก หากสิ่งนั้นไม่ใช่ความเป็นไทย คำอธิบายต่อไปนี้เพื่อทำความเข้าใจกับปรากฎการณ์ดังกล่าวจึงต้องย้อนกลับไปดูเรื่องราวในอดีตเมื่อไม่นานมานี้

เพื่อทำให้มลายูมุสลิมเป็นคนไทยดังต้องการ เช่น ยกเลิกการศึกษาภาษามลายูในระบบการศึกษาขั้นประถม การห้ามหนังสือมลายูเข้ามาจากประเทศมาลายา(มาเลเซีย) การยกเลิกวันหยุดราชการในวันพฤหัสและวันศุกร์ แล้วเปลี่ยนมาเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์แทน การส่งเสริมโรงเรียนสอนศาสนา (ปอเนาะ) ให้แปรสภาพมาเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามโดยบรรจุหลักสูตรภาษาไทยลงไป การอพยพขนย้ายชาวไทยจากภูมิภาคอื่นไปตั้งถิ้นฐานในสี่จังหวัดภาคใต้ เป็นต้น

ก่อนหน้าที่จะการใช้คำเรียกตัวเองของคนรุ่นใหม่ว่า ฅนมลายูปาตานี คำว่า “มลายูมุสลิม” หรือ “มาเลย์มุสลิม” ที่คนในพื้นที่ชายแดนใต้เรียกตนเอง มิได้ใช้ในความหมายทางการเมืองแบบหยาบ ๆ แต่หากเปี่ยมไปด้วยความหมายทางวัฒนธรรมอันประกอบกันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพิเศษในพื้นที่แหลมมลายู ฮัจญีสุหลงถึงกับเคยกล่าวว่า “คำว่า ‘ไทยอิสลาม’ ซึ่งใช้เรียกพวกเรานั้น เป็นสิ่งเตือนใจเราถึงความพ่ายแพ้นั้น เราจึงไม่ชอบคำนี้เลย เราจึงใคร่วิงวอนให้รัฐบาลให้เกียรติเราด้วยการเรียกเราว่า ‘มลายูมุสลิม’ เพื่อว่าโลกภายนอกจะได้เข้าใจในความแตกต่างของเรากับชาวไทยโดยทั่วไป” [1]

ในสำนึกทางประวัติศาสตร์ของชาวมลายูมุสลิมพื้นที่บริเวณจังหวัดชายแดนใต้เป็นแผ่นดินที่พวกเขาเป็นเจ้าของมาแต่ดึกดำบรรพ์ พวกเขามิได้อพยพมาจากไหน มีแผ่นดินแม่อยู่ในจังหวัดชายแดนใต้นี้เอง ก่อนที่(สยาม)ไทยจะแผ่อิทธิพลลงไปในแหลมมลายูเสียด้วยซ้ำ “ความเป็นไทย” ที่รัฐไทยพยายามยัดเยียดให้พวกเขาจึงเป็นสิ่งแปลกปลอมที่รุกไปทีหลัง การจะให้ฅนมลายูมุสลิมยอมรับความเป็นไทย ก็เท่ากับให้ทอดทิ้งเอกลักษณ์เดิมที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น ซึ่งคงไม่มีใครยอมได้ง่าย ๆ

ที่สำคัญคือ เกณฑ์ ของความเป็นไทยบางอย่างแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับชาวมุสลิม

ดังคำอธิบายของ อารง สุทธาศาสน์ (2519) ว่า “ความเป็นไทยตามนัยของสังคมและวัฒนธรรม หมายถึงถึงความเป็นไทยซึ่งกำหนดตามเอกลักษณ์หรือใกล้เคียงกับเอกลักษณ์ของชาวไทยพุทธเป็นส่วนใหญ่ การกำหนดเช่นนี้ไม่ได้อาศัยเหตุผลและหลักการอะไรมากนัก ส่วนมากกำหนดกันตามความรู้สึก จารีตประเพณี หรือคำกล่าวที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในสังคม แต่ถ้าเรานำมาตรการทางกฎหมายมาพิจารณา เราจะเห็นได้ทันทีว่าความเป็นไทยในแง่นี้เป็นสิ่งที่ขาดเหตุผล ขาดหลักการ ถึงกระนั้นก็เป็นสิ่งที่เราหลงใช้กันอย่างกว้างขวางมาเป็นเวลานานแล้ว เกณฑ์เหล่านี้คือ อาหารการกิน การแต่งกาย การนับถือศาสนา จารีตประเพณี ภาษาพูด ฯลฯ เรามักจะใช้เกณฑ์เหล่านี้ในการแบ่งว่าใครเป็นแขก ใครไม่เป็นไทย การใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเกณฑ์กำหนดความเป็นไทย ทำให้ชาวมุสลิมในสี่จังหวัด (หรือมุสลิมทั่วไป) พอใจที่จะไม่เป็นไทยมากกว่า การเป็นไทยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับพวกเขา แท้ที่จริงแล้วความเป็นอยู่ของเขาเกือบทุกด้านมีความใกล้เคียงกันกับชาวมลายูมากกว่า เพราะฉะนั้นเขาอาจจะรู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะเรียกตนเองว่าเป็นคนมลายู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าความเป็นไทยนั้นจะต้องทำให้เขาเสียซึ่งเอกลักษณ์ที่มีอยู่” [2]

คำกล่าวของคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย พูดที่วิทยาลัยครูยะลา เมื่อ 1 ก.พ. 2519 ที่ว่า

“การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก เพราะเราไปหลอกเขาเป็นคนไทย ความจริงเขาเป็นชาวมลายู ปัญหาอยู่ที่เราไปหลอกเขามาตลอด” คำกล่าวนี้ยังคงมีความจริงที่ดำรงอยู่จนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน

อ้างอิง :

[1] ฟ้าเดียวกัน, ปีที่2 ฉ.3 ก.ค.-ก.ย. 2547: หน้า 97. อ้างถึงใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2531 : 267

[2] ฟ้าเดียวกัน, ปีที่2 ฉ.3 ก.ค.-ก.ย. 2547: หน้า 97-98. อ้างถึงใน อารง สุทธาศาสน์, 2519 : 170-172