ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 4 : การเผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยพ่อค้าชาวฮินดูมายังอาณาจักรลังกาสุกะ

บรรยายเรื่องโดย อาจารย์ฮาซัน ยามาดีบุ
แปลและเรียบเรียงโดย The Motive

“ปาตานี (จังหวัดชายแดนใต้) คือ เมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักรลังกาสุกะ และเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่มีชื่อเสียง” จากคำบอกเล่าในหนังสือตำนานปาตานี (Hikayat Patani)

ปาตานี (จังหวัดชายแดนใต้) มีราชาปกครองนครรัฐที่ขึ้นชื่อและขนานนาม มีราชธานีตั้งอยู่ใกล้กับทะเล ช่วงสมัยเดียวกันนั้นมีราชาจากรัฐเล็กๆ มาขออยู่ภายใต้การปกครองทั่วทั้งคาบสมุทรมลายู (Semenanjung Tanah Melayu) แม้กระทั่งชาวมาลีกุลชวา (เหล่าราชาของชาวชวา) ก็เข้ามาคาราวะราชาปาตานีเช่นเดียวกัน

ฅนชวา จะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเดินเรือ และสร้างเรือ เพื่อทำการค้าขายกับฅนจีนและฅนเขมรที่เดินทางมาค้าขายในปาตานี (จังหวัดชายแดนใต้)

ในบันทึกของ เชค ซอฟียุดดีน อัล-อับบาซี ระบุไว้ว่า “ฅนเฒ่าฅนแก่เคยเล่าไว้ว่าท่าเรือใหญ่ปาตานีตั้งอยู่ที่หมู่บ้านฆูซือมีลัน (ต.รูสะมิแล จ.ปัตตานี)” แต่จากที่ เชค ซอฟียุดดีน ได้ตรวจสอบนั้น หมู่บ้านฆูซือมิลันไม่ใช่ท่าเรือใหญ่ แต่เป็นแหล่งการค้าปลาน้ำเค็ม
.
ริมชายหาดจะมีชาวฮินดูที่เดินทางมาจากอินเดียเพื่อค้าขายพระพุธรูป ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งมีการเผยแพร่ศาสนาพุทธด้วย

พ่อค้าชาวฮินดู (อินเดีย) จะมาสวดมนต์คาถาพร้อมแสดงอิทธิฤทธิ์ผ่านการเล่นมายากล ฅนมลายูที่ล้อมวงดูบริเวณนั้นก็รู้สึกฉงนสงสัยในความวิเศษที่ไม่เคยพบเห็นจนนำมาสู่การนับถือศาสนาพุทธตามชาวฮินดู (อินเดีย) ในเวลาต่อมา ภายหลังมีการกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปที่ซื้อมาจากชาวฮินดู (อินเดีย) ด้วย

แม้แต่กษัตริย์ปาตานี (จังหวัดชายแดนใต้) เองก็มีการเปลี่ยนศาสนาและกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปเช่นเดียวกัน อาณาจักลังกาสุกะก็เต็มไปด้วยพระพุทธรูปในเวลาต่อมา

เชค ซอฟียุดดีน ระบุในบันทึกไว้ว่า “ศาสนานี้เป็นศาสนาที่ท่านศาสดาอิบราฮิม หรือ อับราฮัม (ศาสดาฅนที่ 6 ของศาสนาอิสลาม) เกลียดชังมาก เพราะเขาเชื่อว่าพระพุทธรูปที่ผู้ฅนกราบไหว้บูชานั้นไม่สามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้”

มีบันทึกประวัติศาสตร์อิสลามในสมัยท่านศาสดาอิบราฮิมช่วงเวลาหนึ่งระบุว่า “ศาสดาอิบราฮีมได้เข้าไปยังสถานที่ตั้งของเทวรูปที่ผู้ฅนบูชากราบไหว้ และนำขวานที่ติดตัวมาด้วยนั้นตัดหัวเทวรูปทุกองค์ยกเว้นองค์ใหญ่ที่สุดที่เขานำขวานไปแขวนไว้ โดยปล่อยให้ผู้ฅนกลับมาเห็น

หลังจากนั้นไม่นานผู้ฅนจึงตะโกนร้องหาฅนที่ทำลายเทวรูปเหล่านั้น จนกระทั่งได้จับตัวศาสดาอิบราฮีมพร้อมถามว่า อิบราฮีม เจ้าทำลายเทวรูปที่เราสักการะบูชาใช่หรือไม่ เขาตอบกลับไปว่า เปล่า เทวรูปองค์ใหญ่นั้นต่างหากที่ทำ ไม่เชื่อลองถามเทวรูปองค์ใหญ่นั้นดู ถ้าองค์ใหญ่นั้นเป็นพระเจ้าของพวกเจ้าจริง เขาคงบอกพวกท่านได้ว่าใครกระทำ”

พระเจ้า (อัลลอฮฺ) เท่านั้นที่สูงส่งและสามารถยิ่ง แต่ด้วยความศรัทธาที่อ่อนแอและความโง่เขลาของมนุษย์ เราจึงไม่สามารถทำอะไรได้ แต่หากเมื่อใดผู้ฅนเริ่มมีจิตสำนึกเสมือนในช่วงสมัยท่านศาสดาอิบราฮิม ผู้ฅนจะเริ่มพบสัจธรรมและนับถือศาสนาอิสลาม เฉกเช่นเดียวกันกับอาณาจักรลังกาสุกะในเวลาต่อมา

นอกจากนั้นชาวฮินดู (อินเดีย) ยังเดินทางไปยังแผ่นดินใหญ่แห่งเมืองจีนด้วย จุดประสงค์หลักก็เพื่อทำการค้าและเผยแพร่ศาสนาพุทธ มีบันทึกของจีนระบุว่า ศาสนาพุทธเข้าไปยังเมืองจีนหลังจากที่ท่านศาสดาอีซา บุตรของ มัรยัม (ศาสดาฅนที่ 24 ของศาสนาอิสลาม) หรือ พระเยซู (ศาสดาของศาสนาคริสต์) ประสูติ 400 ปี แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัด

เชค ฟากีห์ อาลี ยังระบุในบันทึกประศาสตร์ปาตานี (Sejarah Patani) อีกว่า อาณาจักรลังกาสุกะในสมัยที่มีการกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปนั้นผู้หญิงกับผู้ชายจะไม่มีการแต่งงานกัน แต่อนุญาติให้หลับนอนกันได้ สำหรับผู้หญิงแล้วจะมีอิสระสามารถเลือกคู่ครองอยู่กินฉันสามีภรรยากับผู้ชายฅนไหนก็ได้ตามที่ใจชื่นชอบ

จึงเป็นที่มาของลักษณะทางพันธุกรรมของฅนมลายูในปาตานี (จังหวัดชายแดนใต้) ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งโครงหน้า สีผิว นัยน์ตา สีผม ความสูง เพราะฅนมลายูมีการผสมผสานกันหลากหลายชาติพันธ์ระหว่างฮินดู จีน เปอร์เซีย อาหรับ และมลายู

ส่วนฅนอาหรับที่เดินทางมายังอาณาจักรลังกาสุกะนั้น จะเรียกฅนมลายูว่า “ฅนป่า” แต่จะเรียกฅนซาไกว่า “ซาแก” หรือ “ซาไก” จะไม่เรียกว่า ฅนซาไก เพราะฅนสมัยนั้นจะมองว่าฅนซาไกคือ สิ่งมีชีวิตครึ่งฅนครึ่งสัตว์ เมื่อพวกเขาเจอผู้ฅนก็จะรีบหนีเข้าป่า ไม่มีเสื้อผ้าใส่ ชอบขึ้นบ้านผู้ฅนเพื่อขโมยอาหาร กินเสร็จก็จะหนีเข้าป่า บางครั้งก็นำไปกินในป่า ฟังภาษามลายูและภาษาอื่นๆ ไม่รู้เรื่อง มีสีผิวดำคล้ำ ผมหยิก และไม่สูงมาก วิ่งเร็วเหมือนสัตว์อื่นๆ ที่มีอยู่ในป่า

ด้านการปกครองราษฎรราชาของอาณาจักรลังกาสุกะจะเรียกราษฎร์ตนเองว่า “ลูก” มีตำนานเล่าขานกันว่า ราชาอาณาจักรลังกาสุกะจะปกครองอาณาจักรตนเองเหมือนราชาอินเดียที่มีชื่อว่า อาซูกา (พระเจ้าอโศกมหาราช) ที่ปกครองราษฎรเหมือนปกครองลูก

ราชาอาณาจักรลังกาสุกะเคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์ทุกฅนคือลูกของข้า และลูกของข้าทั้งหมดทั้งมวลจะได้รับความเมตตาในโลกนี้ และจะได้รับวิญญาณกลับคืนหลังจากสิ้นชีพไปแล้ว”

อ่านเพิ่มเติม :
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 1
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 2
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 3
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 5
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 6
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 7
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 8
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 9
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 10