เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และองค์กรภาคี ร่วมกับสำนักสันติวิธีฯ สถาบันพระปกเกล้า ร่วมจัดงานเปิดตัวหนังสือ “หลัง รอย ยิ้ม” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่พลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้
ช่วงหนึ่งในงานมีวิทยากรร่วมถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับ “การจัดการสานเสวนาในระดับชุมชน” ที่มีผลในทางปฏิบัติจริงมาแล้วใน 3 พื้นที่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เริ่มจากการเป็นผู้เข้าร่วมกระบวนการสานเสวนาจนนำไปสู่การเป็นนักกระบวนกร เป็นคนกลาง เพียงเพื่อให้กลุ่มคนทั้งสองฝั่งที่มีความหวาดระแวงต่อกันกลับมาพูดคุยและเข้าใจกันและกัน
หนึ่งในวิทยากรนั้น คือ คุณนารี เจริญผลพิริยะ นักสันติวิธี และผู้พัฒนากระบวนการ ‘สานเสวนาระดับชุมชน’ เขาเปิดเผยว่า “ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จะใช้กฎหมาย 3 ฉบับ คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ.ความมั่นคง) และพ.ร.บ.อัยการศึก ซึ่งกฎหมายเหล่านี้เปิดช่องให้คนในพื้นที่สามารถถูกจับอยู่ตลอดเวลา
ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ชาวบ้านที่เป็นมุสลิมก็จะถูกปิดล้อมทั้งหมู่บ้าน จับไป 30-40 คน เพื่อแยกปลาออกจากน้ำ วิธีการแบบนี้ในแง่ความรู้สึกมันถูกตัดสินไปแล้ว มันจึงดึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการห่างออกไป ซึ่งในสถานการณ์อย่างนี้จำเป็นต้องมีคนกลาง เพราะต่างฝ่ายต่างระแวงกัน
.สานเสวนาจึงเข้าไปช่วย เราพยายามให้ชาวบ้านทำความรู้จักเครื่องมือนี้ว่าหน้าตาและวิธีการเป็นอย่างไร โดยเราสร้างสถานการณ์จำลองให้แสดงตามบทบาทต่างๆ เช่น เป็นชาวบ้าน เป็นเจ้าหน้าที่ และเป็นคนกลาง เพื่อให้พวกเขารู้สึกไว้วางใจเมื่อได้เปิดอกคุยกัน”
หมายเหตุ : งานชั้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท (Tue, 2017-03-28 22:58)
ลิงค์ต้นฉบับ : https://prachatai.com/journal/2017/03/70792