MARIA มากกว่าแพล็ตฟอร์มซื้อขายบ้าน คือการสร้างคุณค่าในตัวเองต่อสังคม

โควิด19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมระดับประเทศ ลงไปถึงระดับชุมชน ร้านอาหาร ร้านโชว์ห่วย ร้านตัดผม ตลาดนัด ทั้งในธุรกิจสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์หรือการซื้อขายบ้าน ส่งผลกระทบเช่นเดียวกันในช่วงแรก แต่กลับมีความต้องการ(Demand ) ที่ไม่ได้ลดลง ถึงแม้ว่าในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้เป็นพื้นที่พิเศษด้านความขัดแย้งกันด้วยอาวุธและเกิดเหตุความรุนแรงก็ตาม

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ที่ดิน และทรัพย์สินอื่นที่ติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น เช่น อาคาร บ้านเรือน นับว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องอีกมากที่น่าสนใจ ทว่ากลุ่มฅนที่เลือกประกอบสาขาอาชีพนี้กลับมีมุมที่สังคมรับรู้น้อยมาก

The Motive จะชวนสนทนากับ มาเรีย กะโด CEO MARIA PROPERTY บริษัทให้บริการซื้อขายบ้าน ผ่านช่องทางแพล็ตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งการเริ่มต้นของสาวมั่นฅนนี้มีเส้นทางตั้งแต่นายหน้าขายบ้าน จนมาเป็นดังเช่นปัจจุบัน สามารถปลดหนี้เกือบล้าน และเธอมีความฝันที่จะสร้างอนาคต ระบบนิเวศของธุรกิจอสังหาฯ หรือ Ecosystem และการสร้างคุณค่าให้กับตัวเองต่อสังคมโดยเฉพาะต่อพื้นที่

มาเรีย จะแนะนำตัวเอง ว่า เป็นใคร มาจากไหน

มาเรีย กะโด ปัจจุบันทำงานประจำเป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ หน่วยงานราชการ และเป็น CEO บริษัทมาเรีย เรียลเอสเตท จำกัด เป็นฅนบ้านบาโงยบาแด สะเตง เมืองยะลาแต่กำเนิด

ถ้าดูจากงานประจำที่ทำอยู่ ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับการทำธุรกิจอสังหาฯ อะไรที่ทำให้กระโดดมาวงการธุรกิจ

ไม่เกี่ยวเลยค่ะ สมัยเรียนมัธยม ช่วงที่กำลังเลือกว่าจะเรียนอะไร เราอยากเรียนวิศวะโยธา อยากสร้างบ้าน รู้สึกว่าชอบด้านนี้ แต่ด้วยความที่ที่บ้านฐานะค่อนข้างยากจน พี่ๆลำบากกว่ามาก ไม่มีโอกาส แต่เราเป็นน้องที่มีพี่ จึงทำให้มีโอกาสมากกว่า ตรงที่นอกจากจะมีพ่อแม่คอยช่วย ยังมีพี่ๆ คอยซัพพอร์ต และมีญาติๆค่อยช่วยเหลือ เลยมีโอกาสได้เรียนถึงปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช

ตอนนั้นไม่มีใครให้เราปรึกษา ทุกอย่างคิดเอง ตัดสินใจเอง ด้วยความที่เราคิดเองว่า เป็นผู้หญิง ลำบาก ต้องไปคุมงาน ไปไซต์งาน เลยเลือกเรียนวิศวะคอมฯ แทน แต่ความชอบด้านอสังหาฯ ก็ยังมีอยู่

จบออกมาทำงานเข้าสายราชการเลย หรือ คิดตัดสินใจ ว่าจะทำธุรกิจก่อน

จบแล้วสอบราชการเลยเพราะเราไม่มีต้นทุน ความคิดของฅนบ้านเราคือ ราชการเท่านั้นเงินเดือนและโอกาสเยอะ

ต้นทุน ที่ว่าคืออะไร

ต้นทุนทางสังคม เงิน คอนเน็กชั่น ไม่มีอะไรเลย พอทำงาน เราก็ยังหาอะไรทำเสริม เพราะในใจคิดตลอดว่าเราอยากทำธุรกิจ

เริ่มต้นจากการขายอะไร

เลยเริ่มจากขายออนไลน์ ตอนนั้น hi5 ขายผ้าคลุมผ่าน hi5 ยอดไม่ได้ปังเลย ขายไปสักพักเริ่มขายไม่ได้ ยุครอยต่อระหว่างhi5 กับ Facebook หลังจากนั้น ไปเลือกเสื้อมือสองตามตลาดนัด มาซักรีด แล้วขายผ่าน Facebook ขายเสื้อมือสอง แทบจะไม่เห็นโอกาสช่องทางเติบโต จนเสื้อมันเยอะขึ้น ขายไม่ออก ทุนก็กองอยู่บนเสื้อ กำไรไม่เข้า เลยมาปูเสื่อขายตามตลาดนัด เทขายตามตลาดนัด ก็ยังสู้เจ้าใหญ่ๆไม่ได้ เขาขายตัวสิบยี่สิบ ของเราไปคัดมาซักรีด ขายห้าสิบ ขายไม่ค่อยได้ เลยต้องเทขายเท่าๆเขา

ฅนที่รู้จักเรา มองเรายังไง รับราชการแล้ว ยังมาขายเสื้อมือสองอีก

ต่อหน้าเขาก็ชมว่าเราขยัน แต่ข้างหลังไม่แน่ใจ (หัวเราะ) บางฅนเขาก็รู้ว่าที่เราทำเพราะเรามีภาระค่าใช้จ่าย จุดสำคัญมันอยู่ตรงนี้ค่ะ

จากนั้นเอาของเล่นลงไปขายตลาดนัดหลังเลิกงาน 5 โมงถึง 3 ทุ่ม ขายไปเรื่อยๆ จนรู้สึกเหนื่อย ไม่มีเวลาให้ลูก เลยคิดที่จะเปิดร้าน เลยเอารถไปเข้าไฟแนนซ์ใหม่ ไปกู้ธนาคาร และกดบัตรเครดิตทุกใบที่มีเพื่อมาลงทุนเปิดร้าน แต่การเปิดร้านแบบไม่ได้วิเคราะห์อะไรเลย ทำให้เราเจ๊ง เลยต้องลดล้างสต็อกทั้งร้าน แล้วปิดร้านไป แต่พอปิด รายได้ไม่มีเข้ามา แต่หนี้เพิ่มขึ้น

ก็เลยเริ่มเข้าสู่วงการหยิบยืม ยืมฅนนั้นมาจ่ายฅนนี้ ยืมฅนนี้มาจ่ายฅนนั้น หมุนเวียนแบบนี้จนไม่ไหว เลยขายรถไป เปิดได้แค่ปีกว่า รับภาระไม่ไหว มีปัญหาจุกจิกมากมาย ช่วงเวลานั้นแหละสำคัญ รถคันนั้นเราไปรีไฟแนนซ์เพื่อเอาเงินออกมาเปิดร้าน เงินเหลือจากปิดไฟแนนซ์ แค่ 10,000 บาท แต่เดือนหน้าเราไม่ต้องหาเงินมาผ่อนแล้ว มันโล่งอย่างบอกไม่ถูก แต่ตัดภาระหนี้ได้แค่รถ แต่ยังมีหนี้สินเชื่อ หนี้บัตรเครดิต และหนี้ยืมเพื่อน

หนี้ หลักเท่าไหร่

รวมๆตอนนั้นไปๆมาๆ น่าจะเกือบล้าน จนขึ้นศาลเป็นว่าเล่น พวกสินเชื่อมันต้องไปประนอมหนี้ที่ศาล ส่วนหนี้ยืมเพื่อน เราก็เจรจา ทุกฅนเข้าใจ เราโชคดีตรงนี้ เขาเชื่อใจเรา ส่วนตัวคิดว่าตัวตนของเราไม่ใช่ฅนที่จะโกงใครด้วย

ณ เวลานั้น เรากำลังคิดอะไรอยู่

เวลานั้นในหัวเราคิดตลอดเวลา ว่าจะทำอะไรดี ไม่เคยอยู่นิ่งเลย ทำขนมขาย นอนตีสองตื่นตีสี่ ขายของแบบไม่สต็อก คือโพสต์ขายแล้วทางร้านส่งให้ เราทำขนมไม่เป็นเลย ดูจาก youtube ทำอะไรก็ขายได้หมด แต่มันเหนื่อยมาก และกำไรมันไม่พออยู่ดี หนี้เยอะกว่าการที่จะสะสมเงินกำไรน้อย ๆ เราใช้เวลาอยู่กับมันมาก แต่รายได้ไม่พอ

ทำขนมขาย ไม่พอเคลียร์หนี้ที่ค้าง มันเหนื่อยแล้วได้เงินน้อย ถ้าเราไม่มีหนี้ มันอยู่ได้ แต่หนี้เราที่ต้องจ่ายแต่ละเดือนมันเยอะ เช้าทำเสร็จอาแบ(สามี)ขับมอไซไปส่ง แล้วไปทำงานประจำ เหนื่อยจนท้อ จนกระทั่ง หยุด ไม่เอาแล้ว ไม่ไหว เลยมานั่งคิดว่าทำอะไรต่อดี

“ คุณค่า คือ สิ่งที่เราทำนั้นมีประโยชน์ต่อสังคม สังคมได้ประโยชน์จากเรา

จุดเริ่มต้นอาจมาจากการที่เราต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน

แต่เมื่อเราได้มาบ้างแล้ว สิ่งที่เราต้องการทำต่อ คือ สังคม ”

อะไร ที่ยังทำให้เรามีแรง ทำต่อ สิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่หยุด

เราเป็นฅนที่ไม่เคยยอมแพ้ และเชื่อมั่นในตัวเองเสมอว่าเราต้องหลุดพ้นจากภาวะแบบนี้ ด้วยความที่เราเป็นฅนแบบนี้ ที่บ้านน่่าจะเชื่อใจเรา เราเป็นฅนดื้อ เป็นฅนที่ฟังตัวเอง ต้องคิดและตัดสินใจเอง

มาถึงช่วงที่เราไม่มีรถ ไม่มีเงิน ทำให้เราได้อยู่บ้านมากขึ้น บ้านเพิ่งจะเป็นบ้านก็ตอนนี้ ก่อนหน้าแค่เข้ามาตอนจะนอน เช้าก็ออกไป ทำให้เรามีเวลามาดูเพจขายบ้านที่เคยเปิดทิ้งไว้ ช่วงปี 56 ปีนั้นเป็นปีที่เราซื้อบ้าน ปี 57 เราเคยพาเพื่อนมาซื้อบ้านติดกัน แล้วเราได้เงินค่านายหน้า 2 หลัง แสนกว่าบาท เลยทำให้เรามานึกย้อน ว่าตอนนั้นเราก็ทำไม่เยอะน่ะ แต่รายได้สูงมาก

ปีไหน จากที่ได้งานประจำ จนมาเริ่มต้นนายหน้าขายบ้านอีกครั้ง

ปี 60 เราก็เลยมาปรับปรุงเพจ แล้วเริ่มใหม่ ลงพื้นที่เซอเวย์ที่ไหนประกาศขาย เราโทรติดต่อหมด โทรไปดีลกับเจ้าของบ้านโดยตรง เข้าไปถ่ายรูป ประกาศลงเพจ เฟสบุ๊ค กลุ่มอสังหาฯ เบอร์ไหนโทรไปเป็นเบอร์นายหน้าเราไม่ดีล เราหาทางเข้าถึงเจ้าของบ้านให้ได้ เจ้าของบ้านส่วนใหญ่ เปิดดีลกับนายหน้า เพราะเขาอยากขายบ้านให้ออกไวๆ ปี 60 นับเป็นปีที่ขายบ้านได้แบบเฟื่องฟูมาก เป็นการกลับมาเริ่มใหม่อย่างสวยงาม ซึ่งก่อนหน้านี้มีบททดสอบมากมาย แต่เราก็ผ่านมาได้

บ้านที่เข้าไปดีล หากว่ามีนายหน้าอยู่แล้ว เราจัดการยังไง

ส่วนใหญ่แล้วเจ้าของจะไม่ทำสัญญาปิด เขาจะขายลักษณะสัญญาเปิด หมายความว่า นายหน้าฅนไหนทีดีล เขาเปิดหมด ใครที่ปิดการขายได้ ฅนนั้นรับค่าคอมฯไป หลังไหนที่ไม่รับ เราก็ไม่ขาย เสนอหลังอื่นให้ลูกค้า

เราเรียนรู้ การดีล การซื้อขาย ทำเอกสารต่าง ๆ พวกนี้ยังไง

ความรู้ตอนนั้นเราเริ่มทำจากไม่รู้ พอเริ่มเข้าสู่วงการ มันก็จะมีเหตุการณ์ต่างๆ ให้เราต้องไปศึกษา เรื่องสัญญาก็มีที่มาที่ไป จากเคสของลูกค้าที่มีปัญหา ซึ่งมันเป็นลักษณะว่าเขาต้องการขายบ้านของเขาที่ยังมีภาระหนี้กับธนาคาร แล้วอยากขายไวๆ เขาก็ขายในราคาที่ต่ำกว่าตอนที่ซื้อมา ทำให้เขาต้องไปหาเงินก้อนจากที่อื่นมาโปะด้วย ไม่งั้นไม่สามารถโอนให้ลูกค้ารายต่อไปได้ ซึ่งหมายความว่าเขาเองก็ต้องไปยืมก้อนนี้มา พอคำนวณแล้วไม่พอค่านายหน้า เราเลยช่วยดำเนินการไปก่อน แล้วทำสัญญานายหน้า เลยได้ศึกษาสัญญาพวกนี้ เคสนี้ปิดการขายไปแล้ว สักพักใหญ่ๆ กว่าเขาจะมีเงินมาจ่ายค่านายหน้า ประมาณว่าจ่ายทีหลัง

ภาวะเศรษฐกิจในปี60 ปีที่เราเริ่มลุยงานขายบ้านจริงจัง เป็นอย่างไร

เศรษฐกิจมันเริ่มค่อยๆลง แต่การทำอสังหาริมทรัพย์ ยังขายได้ แม้เศรษฐกิจจะแย่ แต่อสังหาโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เติบโตสวนกระแส ทั้งนี้ส่วนหนึ่งคิดว่า Demand หรือความต้องการมันมีมาก ปัจจัยที่ทำให้ความต้องการมาก 1.บ้านเป็นปัจจัย 4 ที่ทุกฅนต้องการ 2.การย้ายถิ่นฐานจากนอกเมืองเข้าสู่เมืองมากขึ้น ด้วยเหตุผลด้านสถานการณ์ในพื้นที่  หรือการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้บุตรหลาน 3.ความช่วยเหลือของภาครัฐที่เอื้อให้ฅนในพื้นที่ซื้อบ้านได้ง่าย 4.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

บ้านที่ขายได้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองและชานเมืองยะลา 100% ลูกค้าเป็นวัยทำงาน อายุระหว่าง 24-45 ปี หรือ Gen-Y ที่เพิ่งเริ่มมีเงินเดือน จนถึงวัยกลางฅนที่เริ่มหาความมั่นคงหลังเกษียณ ลูกค้าเป็นกลุ่มฅนที่ติดตามและเข้าถึงโซเชียลมีเดีย และมีส่วนหนึ่งที่ติดต่อมาจากการบอกต่อ

ปีไหน ที่เป็นวิกฤติ และมีผลกระทบกับยอดการขายบ้าน

หลังจากปี 59-60 เป็นต้นมา อสังหาฯในพื้นที่ยังขายได้ตลอดสวนกระแสเศรษฐกิจ แต่มีช่วงเริ่มต้นการระบาดของโควิด19 ช่วงแรกๆ หลังจากมีการล็อกดาวน์ ในปีแรก โครงการต่างๆ ก็ต้องหยุดก่อสร้างระยะหนึ่ง รวมถึงมาตรการความปลอดภัยของการแพร่ระบาดยังไม่ชัดเจน และยังไม่ได้รับวัคซีน มันทำให้เราเองก็กังวล เลยต้องหยุดลงพื้นที่ หยุดทำการขายไประยะหนึ่ง รายได้ลดหายไปเยอะ

“ จากที่เรามองแคบ ทำให้เราได้ปรับ mindset จากที่ฅนอื่นมองว่าเราคือนายหน้า

เราควรเปลี่ยนมาเป็นนักธุรกิจ หมายความว่าเราต้องสเกลงานของเรา

เราต้องหาอะไรมาทำ และปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ คิดใหญ่ขึ้น ”

แก้ปัญหากับความต้องการของลูกค้า อย่างไร

ตอนที่เราหยุดทำการขาย ยังมีลูกค้าติดต่อหาบ้านผ่านเราอยู่ แต่เราไม่ได้ลงพื้นที่ดูหน้างานจริง รับฝากขายจากเพจ แต่ไม่ได้ลงไปดู มันทำให้การนำเสนอบ้านกับลูกค้า มันไม่ 100% พูดได้ไม่เต็มปากว่าบ้านสวยจริงแค่ไหน เคสที่ต้องการซื้อจริงๆ เราใช้วิธีการส่งลูกค้าให้พาร์ทเนอร์ หรือนายหน้าฅนอื่นที่ยังลงพื้นที่อยู่ ณ ช่วง 2 ปีหลังนี้เริ่มมีนายหน้าใหม่ๆเกิดขึ้นในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

จากปี62 ช่วงโควิด มาเรีย นอกจากกับการทำธุรกิจนายหน้าขายบ้าน แล้ว มาเรีย มองเห็นโอกาส หรือมีไอเดียที่จะสร้างโปรดักส์ใหม่ หรือขยับยกระดับตัวอะไรอย่างไรต่อบ้างไหม

ปี 2562 เรามีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Southern Most Startup Challenge ของศอ.บต. ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ปีนั้นเป็นจังหวะชีวิตค่อนข้างดี โอกาสเข้ามาหาเราเยอะ แล้วเราก็ไม่ปล่อยโอกาส สิ่งที่เราได้จากโปรเจคนี้อันดับแรกเลย การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้เราได้มองงานที่ทำให้เป็นธุรกิจ จากเรามองแคบๆ ทำให้เราได้ปรับ mindset จากที่ฅนอื่นมองว่าเราคือนายหน้า เราควรมาเป็นนักธุรกิจ หมายความว่าเราต้องสเกลงานของเราแล้ว เราต้องหาอะไรมาทำ และปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ คิดใหญ่ขึ้น

จากที่เราคือจุดศูนย์กลางของทุกอย่าง ทำเองทุกอย่าง มาปรับใหม่ เราต้องสร้างทีมงาน และวางระบบงาน เริ่มชวนฅนรอบข้างมาเป็นทีมงาน แล้วเราก็สเกลงานขายเพิ่มขึ้นด้วยการให้ตัวแทนขาย แบ่งค่าคอมมิชชั่น บ้านหนึ่งหลังเราได้น้อยลงแต่ปริมาณการขายเรามากขึ้น ในปีนั้นหลังจากเข้าร่วมโปรเจค เพื่อเสนอโครงการของบสนับสนุน ทำให้ปี 2562 มาเรีย ได้ยกสถานะตัวเองเป็นบริษัท แต่มาเรียก็ยังไม่มีความพร้อม เพราะหลังจดมันต้องมีภาระค่าใช้จ่าย แต่มันคือโอกาสในการขยับขยาย

จากการเป็นนายหน้าขายบ้าน ขยับมาเป็นบริษัทขายบ้าน มีเว็บไซต์ขายบ้าน จนกระทั่งมาสู่จุดที่เราต้องการจริงๆ คือการ สร้างโครงการของตัวเอง โปรดักส์ใหม่ของบริษัทมาเรีย คือ แพล็ตฟอร์มขายบ้าน ที่ช่วยให้ลูกค้าได้วางแผนก่อนซื้อบ้าน บริการด้านฐานข้อมูลบ้านในพื้นที่ บริการด้านการคำนวณวงเงินสำหรับขอสินเชื่อ สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการซัพพอร์ต ให้ลูกค้าซื้อบ้านกับเราด้วยเช่นกัน

มันสวนกระแสมากเลยนะปี 2561 จดทะเบียนบริษัท กลางปี 2562 และโควิด19 ระบาด ปี2563

แต่อสังหาฯในพื้นที่ เติบโตมากๆ จะสังเกตได้ว่ายะลามีสถิติสูงสุดซึ่งมันอยู่ในพื้นที่บริการของมาเรีย โควิด19 มีผลกระทบต่อ มาเรีย เพียงแค่ว่า ไม่สามารถลงพื้นที่ดูบ้าน หรือ พรีเซ็น บ้านให้กับลูกค้าได้เต็มที่ ยิ่งปีนี้โควิด19 ระลอก 3 Demand ประเภทบ้านเดี่ยวยิ่งมากขึ้น แต่ มาเรีย ก็มีช่องทางแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า

แต่เราไม่ใช่แค่ต้องการให้มาเรียเติบโต สิ่งที่เป็นเป้าหมายของเราอีกอย่าง คือการสร้าง Ecosystem ด้านอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ มาเรียไม่ได้อยากเติบโตฅนเดียว เพราะการที่เรายกระดับพื้นที่ 3 จังหวัด เราไม่อาจสร้างได้ด้วยตัวเราฅนเดียว ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ สิ่งที่มาเรียทำได้ตอนนี้ คือการซัพพอร์ต

เป้าหมายของเราไม่ใช่ให้มาช่วยงานของเรา เราต้องการถ่ายทอด และสอนในสิ่งที่เราสามารถสอนได้ เพื่อให้ฅนรุ่นใหม่ตื่นตัว และใช้โอกาสที่มี ซึ่งมันมีมากกว่าสมัยที่เราอายุเท่าเขา เราสร้างอะไรที่มากกว่าการเป็นนายหน้าขายบ้าน กระบวนการที่สร้างให้เห็น Value ให้กับตัวเอง และพื้นที่

พยายามถ่ายทอด แชร์ประสบการให้ฅนที่หมดหนทาง ท้อ ได้มีแรงไปต่อ กลับมาลุกขึ้น

มาเรีย มีแผนที่จะพัฒนาทั้งระบบ ทั้งฅน ในงานอสังหาฯ แปลว่า ในอนาคต ก็จะมีคู่แข่ง มาทำกิจการเหมือนกับมาเรีย

คู่แข่งมีทุกยุค ทุกอุตสาหกรรม ถ้าเรามัวแต่กีดกัน และกลัวจะมีคู่แข่ง เราอาจเติบโตได้แค่ฅนเดียว เราแค่สบาย พี่น้องเราสบาย แต่มันไม่ได้สร้างคุณค่าให้ตัวเอง การสนับสนุนให้มีการเชื่อมต่อ สร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมเดียวกัน มากกว่าการแก่งแย่งพื้นที่กัน สำหรับความคิดของมาเรีย เราไม่ได้ต้องการแค่รายได้ เราอยากร่วมสร้างสังคม อยากร่วมสนับสนุนฅนรุ่นใหม่ในพื้นที่

คุณค่า หรือ value ที่มาเรียพูดถึง คืออะไร

คุณค่า คือ สิ่งที่เราทำนั้น มีประโยชน์ต่อสังคมอะไรบ้าง สังคมได้ประโยชน์จากเราบ้าง จุดเริ่มต้นอาจมาจากการที่เราต้องการมีอิสระภาพทางการเงิน แต่เมื่อเราได้มาบ้างแล้ว สิ่งที่เราต้องการทำต่อ คือ สังคม ได้อะไรจากเรา ณ ตอนนี้สิ่งที่เราได้แล้ว เราได้สร้างงานให้ฅนในพื้นที่ ที่หมดหวังกับชีวิต เราได้เปลี่ยนฅนที่วันๆ เที่ยวเตร่ เข้าสังคมด้วยการต้มน้ำกระท่อม ให้เขาสร้างคุณค่าในตัวเองด้วยการทำงาน พอเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง เขาก็อยากจะเป็นฅนดี ดูเหมือนว่าคำพูดสวยงาม แต่เราคิดแบบนี้จริงๆ อินชาอัลลอฮ.

มองอนาคตอสังหาฯ ในพื้นที่ช่วง Post Covid19 หลังจากโควิด19 ยังไง

ภาพรวมทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังโควิดระบาด คิดว่ามีแนวโน้มเติบโตไปเรื่อยๆ การแข่งขันจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากที่ในพื้นที่เองมีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวเฮ้าส์น่าจะเป็นที่ต้องการมากกว่าอาคารพาณิชย์ เนื่องจากผู้ฅนเน้นการทำตลาดออนไลน์มากกว่าออฟไลน์ ถ้าพูดถึงความคึกคักในบ้านเรามันยังคึกคักอยู่เหมือนเดิม แต่คิดว่าน่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ๆมากขึ้น มันไม่ใช่แค่เพราะโควิดดีขึ้น คิดว่าน่าจะเกิดจากผู้ฅนเริ่มเห็นโอกาสในธุรกิจนี้มากขึ้น