นายกฯจันทร์เสี้ยวการแพทย์ ยันประเด็นโควิดรัฐปรับตัวช้า

นายกฯจันทร์เสี้ยวการแพทย์ ยันประเด็นโควิดรัฐปรับตัวช้า ด้านสมาคมฯเน้นบทบาทเป็นที่ปรึกษาประเด็นการแพทย์แก่สำนักจุฬาฯและคกก.อิสลามประจำจังหวัด

นายกสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขระบุ ที่ผ่านมารัฐบาลชะล่าใจ เพราะเคยปราบโควิดที่ผ่านมาได้ แต่ไม่เรียนรู้เพื่อปรับตัว ระลอกใหม่เลยโดนสวนกลับอย่างราบคาบ ล่าสุดกลายเป็นจำเลยของสังคม ด้านบทบาทจันทร์เสี้ยวเน้นงานที่ปรึกษาด้านการแพทย์ให้กับองค์กรด้านศาสนา สำนักจุฬาฯ หรือแม้แต่ คกก.อิสลามประจำจังหวัด

รัฐบาลชะล่าใจ เลยกลายเป็นจำเลยของสังคม
นพ.กิ๊ฟลัน ดอเลาะ นายกสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข เปิดเผยว่า “ระลอกแรกรัฐบาลประกาศมาตรการล็อคดาวน์แบบเข้มงวดมาก ฉะนั้น ผลออกมา โควิดค่อนข้างที่จะถูกจัดการได้เร็ว จะมีปัญหาก็แต่เรื่องเศรษฐกิจ ประชาชนไม่สามารถทำมาหากินได้เหมือนปกติ กระนั้นก็ตามระลอกนั้นรัฐบาลได้รับคำชื่นชมในเรื่องการจัดการโควิดจากต่างประเทศด้วย

พอมาระลอกใหม่ล่าสุดกลับเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ก็ใช่ว่าไม่มีการคาดการณ์มาก่อนแล้ว แต่พอมันเกิดขึ้นมาใหม่รัฐบาลก็เลือกวิธีการจัดการโควิดจากการเรียนรู้ในระลอกแรก คือ เลือกรูปแบบที่มันไม่ไปกระทบต่อเรื่องเศรษฐกิจ เลยไม่มีการล็อคดาวน์ในช่วงแรกๆ ออกมาตรการบ้าง แต่ไม่ได้เข้มงวดเหมือนระลอกแรก แต่พอเหตุการณ์มันเริ่มบานปลายถึงขั้นรุนแรง การแพร่เชื้อระบาดหนักขึ้น รัฐเลยต้องประกาศมาตรการอย่างเข้มงวดขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการค้นพบ และการพัฒนาวัคซีนที่สำเร็จ เรื่องวัคซีนเลยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ซึ่งโดยหลักการแล้วมันน่าจะไม่หนักเท่าที่ผ่านมา แต่ปรากฎผลออกมากลายเป็นตรงข้าม คือ หนักกว่าระลอกแรกหลายเท่า อาจเป็นเพราะมาตราการล็อคดาวน์ในช่วงแรกไม่ค่อยเข้มงวด และวัคซีนกลับไม่ได้ตามเป้า ไม่ได้นำวัคซีนตัวที่ดีที่สุดเข้ามา รวมถึงการฉีดวัคซีนไม่ได้เร็วเท่าที่ควร ไม่ได้จำนวนที่สามารถจะหยุดโรคได้ สถานการณ์เลยบานปลายหนักขึ้นอย่างสาหัส

ส่วนตัวมองว่า ในระลอกล่าสุดประชาชนเริ่มรู้ว่ามีวัคซีนเข้ามาช่วยแล้ว มาตรการส่วนตัวของประชาชนเองก็อาจจะไม่ได้รัดกุมเหมือนก่อนหน้านี้ เพราะพวกเขาหวังพึ่งวัคซีนจากรัฐ แต่ผลปรากฎว่า ประเทศกลับหยุดโรคไม่ได้ทั้งที่มีวัคซีนเข้ามาแล้ว กระแสต่อต้านจากประชาชนเลยเกิดขึ้น มีการกดดันให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนที่ดีให้กับบุคลากรทางการแพทย์จนถึงประชาชนทั่วไป รัฐบาลเลยกลายเป็นจำเลยในเรื่องนี้

ส่วนกิจกรรมด้านศาสนาที่มันเกี่ยวข้องกับโควิดก็จะมีสำนักจุฬาราชมนตรีคอยประกาศถึงมาตรการต่างๆ แต่การนำไปใช้ในพื้นที่มันกลับไม่ชัดเจน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นองค์กรการปกครองที่มีอำนาจในการจัดการ เลยออกมาในลักษณะขอความร่วมมือมากว่า ส่วนสังคมจะให้ความร่วมมือหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็จะให้ความร่วมมือย่างดี มีเพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น” นพ.กิ๊ฟลัน กล่าว

จันทร์เสี้ยวทำงานประสาน ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านการแพทย์ให้กับองค์กรด้านศาสนา
นพ.กิ๊ฟลัน เปิดเผยถึงบทบาทของสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขต่อประเด็นโควิดที่ผ่านมาว่า “ระลอกแรกเราร่วมทำงานกันหนักมาก ช่วยในเรื่องการประสานงาน การประชาสัมพันธ์ให้องค์ความรู้เพื่อความตระหนักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อสังคม เพราะช่วงเวลานั้นภาครัฐยังไม่ได้มีมาตรการอะไร พอมาระลอกล่าสุดเหมือนภาครัฐเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คนก็เริ่มรู้มากขึ้น บทบาทของจันทร์เสี้ยวเลยเริ่มน้อยลง แต่ก็ยังประชาสัมพันธ์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องตามสื่อต่างๆ

ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลักตอนนี้ จันทร์เสี้ยวรับบทบาทเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรด้านศาสนา โดยเฉพาะสำนักจุฬาราชมนตรีและสำนักคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่างๆ คือ ทีมหมอจากสมาคมจันทร์เสี้ยวจะเป็นคนให้ความเห็นในประเด็นทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโควิด ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็เป็นเรื่องย่อยๆ ไป เช่น การจัดการมัยยิต (การจัดการศพตามหลักศาสนา) หรือแม้กระทั้งการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป” นพ.กิ๊ฟลัน กล่าว
.
#หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ประชาไท : https://www.facebook.com/108882546698/posts/10158563469356699/