จากปาตานีสู่มินดาเนา การเดินทางที่ไม่ได้มีเพียงเรา

.
บทความนี้เป็นบันทึกการเดินทางของผู้เขียนไปยังเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และขบวนการปลดแอกบังซาโมโร (Bangsamoro) โดยเริ่มต้นจากปาตานี มุ่งหน้าสู่มะนิลา ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่เป้าหมาย ที่ตัดสินใจปัดฝุ่นเรื่องงานเขียนนี้เพราะคิดถึงเพื่อนร่วมเดินทางที่ชื่ออัฟกัน ณ ตอนนี้เพื่อนคนนี้ได้จากโลกนี้ไปแล้ว (ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาและประทานสวนสวรรค์แก่เขา)
.
เราเดินทางจากปัตตานีในเวลาตีสี่ของวันที่ 4 ธันวาคม 2018 ท่ามกลางฟ้าฝนที่เทกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา มุ่งไปยังสนามบินหาดใหญ่เพื่อให้ทันเที่ยวบินรอบเช้าสุด จากนั้นต่อเครื่องบินที่สุวรรณภูมิ มาถึงกทม.เรามีผู้ร่วมทีมคุณภาพอีกสองคนซึ่งเป็นเสมือนผู้ดูแลและล่ามประจำทริปของเรา หลังจากทุลักทุเลจากการผ่านด่านตรวจ ตม.ที่ค่อนข้างเข้มงวด ซึ่งเราก็วิจารณ์กันว่าน่าจะมาจากเหตุการณ์ที่มาราวีปีก่อนหรือเปล่า เพราะเพื่อนร่วมทริปของเราที่เคยมาเมื่อสี่ห้าปีก่อนบอกว่า ตอนนั้นไม่ได้ตรวจเข้มอย่างตอนนี้ แต่เราก็ผ่านเข้ามาในประเทศฟิลิปปินส์ ได้ด้วยดี เราอยู่ในมะนิลาสองวัน
.
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและชาติพันธุ์ในมินดาเนา อนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนระหว่างคำว่า มินดาเนา กับ บังซาโมโร จึงขออธิบายเรื่องพื้นฐานในเกาะมินดาเนามีประชากรหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ประชากรที่ไม่ใช่มุสลิมและไม่ใช่คริสเตียน แต่เป็นชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาต่าง ๆ กัน ซึ่งมีมากถึง 13 ภาษา พวกเขาเรียกชนกลุ่มน้อยนี้ว่า “Lumad”
.
ส่วนมุสลิม Bangsamoro (โมโร) กลุ่มชาวมุสลิมที่อ้างสิทธิในดินแดนตามประวัติศาสตร์ มาจากคำว่า Moors ที่สเปนเรียกมุสลิมที่ต่อต้านสเปน อดีตมินดาเนาถูกปกครองโดยสเปน (300 ปี) สหรัฐอเมริกา (40 ปี) และญี่ปุ่น ก่อนรวมเป็นฟิลิปปินส์ในปี 1946
.
สถานการณ์ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ ความขัดแย้งในมินดาเนามีรากฐานมาจากข้อพิพาทเรื่องดินแดนและอัตลักษณ์ของกลุ่มโมโร การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ในปี 1900 มุสลิมมีสัดส่วน 80% ของประชากรมินดาเนา ปัจจุบันมุสลิมเหลือเพียง 20% เนื่องจากนโยบายแจกที่ดินให้ผู้อพยพ (1950) ชาวมุสลิมรู้สึกถูกกดขี่ทางเศรษฐกิจ การเมือง และศาสนา นำไปสู่การลุกฮือต่อสู้
.
นำมาซึ่งการจัดขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช ในชื่อว่า MNLF (Moro National Liberation Front) ก่อตั้งปี 1969 ต้องการเอกราช แต่ในปี 1996 ได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาล สมาชิกของ(MNLF)ที่ไม่พอใจในข้อตกลงสันติภาพจึงได้จัดตั้งขบวนการใหม่ชื่อว่า MILF (Moro Islamic Liberation Front) แยกออกจาก MNLF และต่อสู้เพื่อเอกราชต่อไป
.
ด้านเศรษฐกิจและการเมืองในมินดาเนา ในยุคอาณานิคมอเมริกัน มินดาเนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากนโยบายอพยพย้ายถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติถูกครอบครองโดยธุรกิจอเมริกันและชนชั้นนำฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ชนพื้นเมืองและชาวมุสลิมถูกผลักดันไปสู่ชายขอบทางเศรษฐกิจและการเมือง ความขัดแย้งในมินดาเนาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีรากฐานทางประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ ประเด็นเรื่องที่ดินและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนความขัดแย้ง การเจรจาสันติภาพยังคงเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต้องอาศัยตัวกลางที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
.
กระทั่ง ปี 2014 รัฐบาลฟิลิปปินส์ลงนามข้อตกลงสันติภาพกับ MILF นำไปสู่การจัดตั้ง เขตปกครองตนเองบังซาโมโร (Bangsamoro Autonomous Region) เพื่อให้ชาวมุสลิมในพื้นที่มีสิทธิในการปกครองตนเอง กฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (Bangsamoro Organic Law – BOL) ได้รับการอนุมัติในปี 2018 และผ่านการลงประชามติเมื่อปี 2019 นำไปสู่การจัดตั้ง Bangsamoro Transition Authority (BTA) ซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐบาลชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาภูมิภาค ทำให้ BTA ยังคงทำหน้าที่บริหารภูมิภาคต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ในปี 2024 ศาลฎีกาฟิลิปปินส์ได้ตัดสินว่าการรวมจังหวัดซูลูเข้าในเขตปกครองตนเองบังซาโมโรไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้สถานะของจังหวัดซูลูยังไม่ชัดเจน ปัจจุบัน เขตปกครองตนเองบังซาโมโรยังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน โดยมี BTA ทำหน้าที่บริหารภูมิภาคและเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2025
.
แม้ว่าความขัดแย้งในบังซาโมโรจะคลี่คลายลงหลังการจัดตั้งเขตปกครองตนเอง แต่ภูมิภาคนี้ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการบริหารที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานหลังความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป ขณะเดียวกัน การรวมอดีตนักรบเข้าสู่สังคมและการปลดอาวุธก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ เช่น กลุ่มอาบูไซยาฟ ที่ยังไม่ยอมวางอาวุธ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของภูมิภาค ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บังซาโมโรสามารถก้าวไปสู่สันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืนในอนาคต
.
เรียบเรียง : ซาฮารี เจ๊ะหลง