เผยรัฐธรรมนูญฉบับ 60 คือ การกระชับอำนาจของชนชั้นนำไทย ถามปัญหาสังคมนี้ประชาชนบางส่วนถูกนับ บางส่วนไม่ถูกนับ แล้วฅนปาตานีอยู่ส่วนไหน ย้ำรัฐเคยชินกับการเป็นเจ้าฅนนายฅน และปกครองแบบอาณานิคม ยันปาตานีต้องเพิ่มการส่งเสียงตอนโอกาสทางการเมืองเปิดแบบนี้ ข้อเรียกร้องของเยาวชนนักศึกษา สองจุดยืน หนึ่งความฝัน ขอผนวกของปาตานีเพิ่มอีกสักข้อได้ไหม
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี ได้มีการจัดเวทีเสวนาโต๊ะกลม ภายใต้ห้วข้อ “ปาตานีในสภาวะวิกฤติการเมืองไทย” เนื่องในวันประชาธิปไตยสากล ที่ห้องประชุมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มอ.ปัตตานี โดยมีวิทยากรและผู้เข้าร่วมจากนักวิชาการ นักประชาสัมคม และนักศึกษาเข้าร่วมงานหลายสิบฅน
ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษย์วิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยาร่วมงาน เปิดเผยว่า ถ้าเกิดเราถามเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ข้อหลักใจความมันเป็นอย่างไร อาจจะพูดโดยสรุป คือ เป็นความพยายามที่จะสถาปนาและกระชับอำนาจของชนชั้นนำ ในนามของความมั่นคงแห่งรัฐท่ามกลางการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ถ้าถามในแง่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร คำตอบคือ ในเมื่อความแข็งแกร่งที่เขาก่อขึ้นมาผ่านกลไกกติกาที่เขาวางเอาไว้ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่หายไป การแก้ไขก็ต้องมาถึงการแก้ไขในเรื่องสิทธิเสรีภาพคืนกลับมา
ในกรณีจังหวัดชายแดนใต้คือ ปัญหาของสังคมนี้ประชาชนบางส่วนถูกนับ แต่บางส่วนไม่ถูกนับ และในแง่นี้เป็นการพูดถึงที่ค่อนข้างน้อย เอาเข้าจริงประชาชนที่ไม่ถูกนับ โดยเฉพาะประชาชนมลายูมุสลิมตรงนี้จะอยู่ตรงไหน ซึ่งโจทย์มิติตรงนี้ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไร
แต่อันหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ ในแง่ของความมั่นคงแห่งรัฐ คือ สิ่งที่มันปรากฎเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นความคล้ายกับความเคยชินของชนชั้นนำที่จะจัดการแบบนี้ คือ ชนชั้นนำไทยเคยชินกับความรู้สึกที่ว่าตัวเองเป็นพระผู้มาโปรด เคยชินกับการคึกคักว่าตัวเองเป็นฅนดี มีหน้าที่คอยปกป้องคุ้มครองอาณาประชาราษฎร์ ตัวเองได้ประโยชน์ก่อนแล้วค่อยจัดสรรช่วยเหลือฅนอื่น
ฉะนั้น เขาจึงไม่ค่อยสบายใจ เมื่อประชาชนอยากจะลุกขึ้นมาทวงถามถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ เราจึงเห็นวิกฤติการเมืองตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 40 มาถึงปัจจุบัน
เมื่อเขาพยายามที่จะกระชับอำนาจใหม่ เราก็จะเห็นเขาจะลดทอนสถานะของประชาชนกลับไปให้เป็นเหมือนเดิมกับที่เขาต้องการ ถ้าเราไปดูในหมวดสิทธิเสรีภาพ เมื่อก่อนมี 40 กว่ามาตรา แล้วเหลือ 20 มาตรา ส่วนหนึ่งก็ถูกแปรให้เป็นหน้าที่ของรัฐ สถานะของการเป็นองค์ประธานแห่งสิทธิของประชาชนในประเทศที่มันถูกลดทอนให้กลายเป็นผู้รอการสงเคราะห์แบบอนาถา โดยเฉพาะสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เคยมี ก็ถูกเปลี่ยนไปหมดให้เป็นบัตรสงเคราะห์ฅนจน นั่นคือทิศทางที่เขาต้องการอยากจะเห็น
เช่นเดียวกันในรูปแบบของรัฐ เขาจะเคยชินมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนที่รัฐชาติสมัยใหม่ในตอนนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือกรุงเทพเป็นศูนย์กลาง ส่วนหัวเมืองประเทศราช หัวเมืองชั้นเอก ชั้นโท ฯลฯ ถูกปรับเข้ามาใหม่ และกลับไปใช้ฐานที่เรารู้จักกันดีในงานศึกษาก็คือ เอารูปแบบที่หยิบยืมมาจากตอนที่อังกฤษปกครองพม่าในฐานะที่เป็นอาณานิคม เช่นเดียวกันเอารูปแบบที่ดัชส์ปกครองอินโดนีเซียนำมาใช้
สรุปคือ เป็นอาณานิคมภายในและเคยชินกันแบบนี้ แล้วใช้รูปแบบแบบนี้มาเรื่อยๆ ฉะนั้น สิ่งที่มันน่ากลัวคือ พอเขากระชับอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกครั้ง สถานะของประชาชนก็จะกลายไปเป็นไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์เหมือนเดิม รูปแบบก็จะเป็นแบบคุ้นเคยที่เขาเป็นเจ้าอาณานิคมเหมือนเดิม และสปิริตแบบนี้มันไม่เคยเปลี่ยน
ถ้าเป็นเช่นนั้นในการที่จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อจะปฏิเสธเจตจำนง หรือ ความปรารถนาของชนชั้นนำที่จะกระชับอำนาจอีกครั้งและต้องการให้ประเทศเป็นลักษณะแบบนี้และให้ฅนอยู่ภายใต้การปกครองแบบนี้ เราจะทำอย่างไร
สิ่งที่น่าสนใจ คือ จะเป็นไปตามอย่างที่ประธาน PerMAS ขึ้นไปกรุงเทพฯ เพื่อร่วมมือกัน แต่ต้องไปให้ถึงประเด็น นอกเหนือไปจากเรียกร้องอันเป็นองค์ประธานแห่งสิทธิ คำว่าประชาชนในประเทศนี้จะต้องครอบคลุมกลุ่มฅนที่แตกต่างหลากหลายไปด้วย ซึ่งในตรงส่วนนี้น้องอาจจะยังไม่ได้พูด
โดยมี 1 ข้อที่ยังไม่ได้พูด คือ ท่ามกลางการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ ตอนนี้เรามีการพูดถึง สสร. มีการพูดถึง สว. มีการพูดถึงศาสรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งในส่วนของกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติเข้าไป รวมถึงรัฐบาลเองจะไม่แตะมาตรา หมวด 1 หรือ หมวด 2 ก็จะเว้นไปเลย
ซึ่งพอเป็นเช่นนี้ ปัญหาที่จะตามมาก็คือ ถ้าเกิดมีการกระชับอำนาจ ก็ต้องมีการสะกดไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่แบบเดิม มีการกระจายอำนาจและแบ่งผลประโยชน์ โจทย์ของปาตานีมันก็จะถูกกลบ
ฉะนั้นมันจะต้องเพิ่มการส่งเสียงเข้าไปอีก สิทธิเสรีภาพที่มันถูกลิดรอนไป มันไม่ใช่สิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติเท่านั้น มันหมายถึงสิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิทางอัตลักษณ์ สิทธิทางความเชื่อ และสิทธิทางศาสนา มันจะต้องได้รับการรองรับในลักษณะที่เท่าๆ กัน.ซึ่งแน่นอนการเป็นรัฐเดี่ยวที่มันแคบและแข็งทื่อแบบนี้มันอนุมัติให้ไม่ได้ มันตอบให้ไม่ได้ อาจจะต้องคิดถึงเรื่องอื่น เอาเข้าจริงแล้วต่อให้มันเขียนว่า #รัฐมีรูปแบบเดียวจะเปลี่ยนมิได้ แต่คำว่า #เปลี่ยนไม่ได้มันไม่ได้หมายความว่าแก้ไขไม่ได้
เอาเข้าจริงแล้วทุกอย่างในโลกนี้เป็นสิ่งสมมุติทั้งสิ้น รูปแบบทางการเมืองทั้งหลายไม่ได้เป็นสิ่งที่นับว่ามันปรมัติ หรือ เป็นสารัตถะ เป็นแก่นสาร เป็นคัลลานะ ไม่ว่าจะที่ใด เวลาไหน มันไม่ใช่ มนุษย์เป็นฅนคิดขึ้นมาเอง
เอากันถึงทุกวันนี้ยังตกลงกันไม่ได้เลยว่ารัฐเดี่ยวในทางรัฐศาสตร์คืออะไร ฉะนั้นคุณมีโมเดลมาตั้งแต่ต้นได้อย่างไร มันต้องตั้งคำถามได้สิ ว่ารัฐเดี่ยวจริงๆ แล้วหน้าตาเป็นแบบไหน หรือ เอาเข้าจริงรัฐเดี่ยวที่ตอบรับในความหลากหลายได้เป็นอย่างไร ต้องคิดถึงในความเป็นไปได้แบบอื่นๆ ไม่ใช่เอาสิ่งที่มันเป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาในช่วงเวลาหนึ่งแล้วตอกตรึงเอาไว้ให้ขยับอะไรกันไม่ได้เลย ซึ่งตรงนี้มันผิด
เพราะจริงๆ แล้วมันควรที่จะมาจากฅนที่อยู่ร่วมกัน มาตกลงร่วมกัน มาเขียนร่วมกัน ไม่ใช่ไปบอกว่า เดิมเป็นแบบนี้แล้ว และจะเปลี่ยนไม่ได้ มันไม่ใช่ .ผมคิดว่าข้อนี้จำเป็นต้องขยับเข้าไป ในแง่หนึ่งอาจจะพูดผ่านการปกครองท้องถิ่น แต่ผมคิดว่ามันน่าจะขยับไปได้ไกลกว่านั้น และผมเข้าใจว่าบรรยากาศทางการเมืองตอนนี้มันอาจจะเอื้ออำนวยให้เราสามารถจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกันได้แล้ว
เรามีช่วงเวลาหนึ่งถึงแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ช่วงต้นทศวรรษ 50 จังหวัดชายแดนใต้มีการพูดถึงรูปแบบการปกรองพิเศษ แล้วตอนนี้ถึงเวลาหรือยังที่จะเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา ถึงเวลาหรือยังที่จะหยิบยกขึ้นมาในการเคลื่อนไหว
ถ้าเกิดสามข้อเรียกร้องของเยาวชนนักศึกษา คือ สองจุดยืน หนึ่งความฝัน ผนวกอีกสักข้อได้ไหม จะใส่ประเด็นเหล่านี้ไปด้วยได้ไหม และผมคิดว่าเราไม่ได้ขาดความรู้ เราไม่ได้ขาดประสบการณ์ แต่เรารอจังหวะและโอกาสทางสังคม หรือ โอกาสทางการเมือง และตอนนี้ตอนนี้เป็นโอกาสทางการเมืองที่มัน
เปิดแล้ว .ชมคลิปเต็ม : https://www.facebook.com/1438146019820331/videos/1012875839173737/