เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2563 เวลา 16.00-18.00 น. หน้าลานมัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี กลุ่มเยาวชนปาตานี (จังหวัดชายแดนใต้) ต่างรวมตัวด้วยชุดรายอ บูดายอ-มลายู (การแต่งตัวตามอัตลักษณ์ วัฒนธรรมมลายูในพื้นที่ปาตานี) ประกอบด้วย เยาวชนหนุ่มสาว นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ได้รวมตัวกันจัดแฟลชม็อบ “ออแร ตานิง ตะเละห์ เอาะ” หรือ “ฅนปาตานีจะไม่ทน”
เผยพร้อมหนุนเสริมข้อเรียกร้อง 3 ข้อของเยาวชนปลดแอก ชี้ไม่เอารัฐบาลเผด็จการ ย้ำประชาธิปไตยของไทยคือแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี/จังหวัดชายแดนใต้
ช่วงเวลาก่อนดำเนินงาน เจ้าหน้าที่มีการตั้งจุดตรวจทางเข้ามัสยิด เพื่อตรวจสแกนผู้เข้าร่วมด้วยการสแกนบัตรประชาชน ถ้าไม่มีก็ให้เขียนชื่อ ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งแจกประกาศเตือนเรื่องการชุมนุมก่อนเข้าภายในพื้นที่จัดกิจกรรม
นอกจากประกาศแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ยังมีการตรวจไข้โควิดเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส และเหตุการณ์ที่หวิดบานปลายคือเจ้าหน้าที่ได้ยึดเครื่องเสียงที่ผู้จัดนำมาเพื่อใช้ในงาน จนนำมาสู่การยื้อแย่งระหว่างผู้จัดและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในเวลาต่อมา
อารีฟีน โสะ หนึ่งในผู้ร่วมจัดแฟลชม็อบ #ออแรตานิงตะเละห์เอาะ เปิดเผยว่า “เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไม่ให้เอาเครื่องเสียงเข้ามา ผมได้ถามทหารพรานก็ตอบมาว่า ผิด พรบ.การชุมนุม ถามกำนัน ก็ตอบว่า ต้องไปขอฝ่ายปกครอง หรือ ผู้ว่าฯ ก่อน
จึงอยากถามว่า เราอยู่ภายใต้ประเทศที่มีกฎหมาย ต้องอิงกับกฎหมาย ถ้าเครื่องเสียงนี้ผิด ผิดเพราะกฎหมายมาตราไหน แต่ถ้าต้องเสียค่าปรับหรือต้องจ่าย ผมนายอารีฟีน โสะ จะขอจ่ายค่าปรับเองครับ”
.
ไม่เอารัฐเผด็จการ #หยุดคุกคามเสรีภาพ #ประชาธิปไตยคือแนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่
ด้านความเห็นจากผู้ที่มาร่วมงานชุมนุม ซันดร่า ยิ่งศรัทธา (นามสมมุติ) ผู้เข้าร่วมงาน กล่าวว่า “เหตุผลหลักที่มาร่วมงานนี้ คือ หนูไม่เอาเผด็จการ เพราะเผด็จการมันทำลายล้างพื้นที่แห่งนี้มามากพอแล้ว และอีกสิ่งที่เราไม่ต้องการ คือ การคุกคามเสรีภาพที่มีมาทุกยุคสมัย
อย่างวันนี้ผู้เข้าร่วมโดยเฉพาะผู้หญิงน่าจะมามากกว่านี้ แต่ก็เข้าใจได้ว่าที่พวกเขาไม่มาอาจเกรงที่จะถูกคุกคามหลังการมาร่วมแสดงจุดยืน ซึ่งถ้าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยจริง ๆ การคุกคามเยี่ยงนี้คงไม่มีเกิดขึ้น
เพราะการแสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องที่ Basic (ปกติ) มาก เป็นสิทธิของใครก็ได้ที่จะออกมาแสดงความเห็น จะเป็นป้าที่ขายน้ำ หรือ อาแบที่เปิดร้านขายข้าวแกง ทุกฅนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
แต่วันนี้เราอยู่ในยุคเผด็จการทหาร จึงต้องการแสดงจุดยืนว่า เราไม่ต้องการรัฐบาลเผด็จการ แต่เราคาดหวังต่อระบบประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับประชาชน ยึดโยงกับพื้นที่ และยึดโยงกับความเป็นจริง
ต้องการให้คืนสันติภาพคืนมา ส่งคืนความยุติธรรมคืนมา เรารู้สึกไม่ไหวแล้ว ทนไม่ได้แล้ว (ตะและห์เอาะเดาะห์)” ซันดร่า กล่าว
.
แก้รัฐธรรมนูญ #หนุนเสริมข้อเรียกร้องเยาวชนปลดแอก #คืนอำนาจให้กับประชาชน
ฮากิม พงติกอ ผู้เข้าร่วมงาน นักเคลื่อนไหว และอดีตรองเลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เปิดเผยว่า “การแก้ปัญหาหลัก คือ ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ ต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการเลือกตั้งรอบหน้า เพราะว่าถ้าใช้กฎหมายเดิมมันก็ไม่เวิร์คอยู่ดี ต้องมีการเปลี่ยนกฎหมายทั้งระบบก่อน จัดตั้งคณะร่างที่มาจากการเสนอชื่อของทุกภาคส่วนเพื่อแก้กฎหมายให้เสร็จ
เพราะกฎหมายเดิมยังไงมันก็ไม่เอื้อให้กับคนที่เราคิดว่าน่าจะแก้ปัญหาให้กับปาตานีได้ เพราะทั้งหมดมันเกี่ยวข้องกับนโยบาย เกี่ยวข้องกับงบประมาณ เกี่ยวกับวิธีคิดที่จะแก้ปัญความขัดแย้งในพื้นที่แห่งนี้
พอเราเห็นปรากฎการณ์แฟลชม็อบจากเพื่อนทั่วประเทศก็รู้สึกตัวสั่นตั้งแต่มีการรวมตัวกันครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อยากหนุนเสริมประเด็นข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของเยาวชนปลดแอกทั่วประเทศ
เพราะปัญหาปาตานีก็คือปัญหาร่วมของคนทั้งประเทศ ซึ่งต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนทุกส่วน คืนอำนาจรวมศูนย์ในกรุงเทพให้กับประชาชนทุกภูมิภาคที่เป็นเจ้าของอำนาจ มันเป็นช่องทางที่จะแก้ปัญหาปาตานีได้” ฮากิม กล่าว
.