ว่าด้วยความแตกต่างหลากหลายและความมั่นคง ในวงเสวนาเเคมป์เเลกเปลี่ยน

.
The Motive ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สนทนาเพื่อชวนผู้อ่านพูดคุยประเด็นสำคัญในปาตานี/ชายแดนใต้ โดยมีนักกิจกรรมจากสมัชชาคนจนร่วมกับเยาวชนแคมป์ในพื้นที่ (เพจ Pecinta Alam Patani) ได้จัดวงเสวนาเเคมป์เเลกเปลี่ยนประเด็นทรัพยากรและปัญหาสิ่งแวดล้อมชายแดนใต้/ปาตานี 2023 ณ แคมป์กลางเขา กม.32 เบตง ยะลา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา

.
คุณ Anne Anarchea Lapapan ได้ชวนสนทนาในประเด็น “ว่าด้วยความแตกต่างหลากหลายและความมั่นคง” ระหว่างการเดินทางและช่วงการอยู่ในแคมป์กลางป่า เราเห็นต้นไม้หลายสายพันธุ์ เราเห็นนกสารพัดชนิด เราเห็นป่าที่ให้อาหารแก่ชาวบ้านแตกต่างไปตามฤดูกาล เราเห็นแม่น้ำ ลำธาร และน้ำตก และเราก็เห็นคนที่แตกต่าง

.
ภาพจำของสาธารณชนเกี่ยวกับ “คนที่แตกต่าง” สร้างขึ้นมาจากการเติมคำขยายของคำว่าไทยโดยภาครัฐ เช่น “ไทยภูเขา” “ไทยใหม่” “ไทยโคราช” “ไทยอีสาน” และครั้งนี้ “ไทยมุสลิม” โดยแท้แล้ว ก็คือการที่รัฐไทยฉวยใช้ “ความแตกต่าง” มาสร้าง “ความเป็นอื่น” และ “ความต่ำต้อย” เพื่อตอกลิ่มสร้างความแตกแยก และสร้างความชอบธรรมต่อการกดขี่ การขูดรีดทรัพยากร การปราบปราม การกำราบให้ยอมสยบต่ออำนาจ และ “ความมั่นคง” ของชนชั้นสูง ในนาม “ความมั่นคงของรัฐ”

.
แล้ว “ความมั่นคงของประชาชน” ล่ะ

ความทุกข์ที่หนักมากของพี่น้องสามจังหวัดภาคใต้ที่เราได้ยินก็คือ การถูกกดขี่ในนาม “ความมั่นคงของรัฐ” หรือที่จริงก็คือ ความมั่นคงของชนชั้นผู้กดขี่ ชีวิตปกติสุขต้องหายไปเพื่อสังเวยความมั่นคงของรัฐ ทรัพยากรของชุมชนที่เคยเป็นที่พึ่งพิงหายไปแล้ว การเข้าป่าไปหาผัก หาหน่อไม้ หาของป่า เก็บผักหักฟืน หรือทำไร่ทำนา ที่เคยเป็นปกติก็ทำไม่ได้อีกต่อไป ป่าไม่ใช่ของพวกเขาอีกแล้ว ที่ดินไม่ใช่ของพวกเขาอีกแล้ว ทรัพยากรไม่ใช่ของพวกเขาอีกแล้ว ชีวิตที่มั่นคงได้สูญเสียไปแล้ว

.
พวกเขาถูกตีตราว่าเป็น “คนที่แตกต่าง” แต่ที่จริง ในความแตกต่าง กลับมีเพียงสิ่งเดียวที่เหมือนกัน คือเราต่างเป็นผู้ถูกกดขี่ และเราต้องไม่ยอมรับ “ความแตกต่าง” ที่รัฐยัดเยียดให้กับเรา การถูกกดขี่ไม่ใช่เกิดกับ “ไทยมุสลิม” แค่นั้น เมื่อมองออกไปให้กว้าง จะเห็น “ชนชั้นผู้ถูกกดขี่” มีอยู่ทุกที่ การขูดรีดถ่ายโอนทรัพยากรจากมือคนจนไปสร้างความร่ำรวยและค้ำยันความมั่นคงของชนชั้นสูง มีอยู่ทุกที่ สิ่งสำคัญก็คือการตื่นรู้ และการฟื้นคืนความสมานฉันท์ ภราดรภาพ และสำนึกของผู้ถูกกดขี่ด้วยกัน และเมื่อนั้น เราจะรับฟังความทุกข์ของกันและกันด้วยใจ

.
ความหลากหลายของป่า สร้างความมั่นคงของป่า
ความแตกต่างของผู้คน ก็ต้องเป็นพลังในการสร้างความมั่นคงของประชาชน

.
ด้าน คุณบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เสนอประเด็นอำนาจของรัฐที่ไม่กระจายสู่ท้องถิ่น ไว้ดังนี้ว่า “ชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็ถูกแย่งชิงทรัพยากรไม่ต่างจากภาคอื่นๆ ที่มีโครงการสร้างฝาย สร้างเขื่อนฯ และมีโครงการขนาดใหญ่นิคมอุตสาหกรรมฯ มีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล มีนโยบายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศในชุมชนและตามวัฒนธรรมในพื้นที่ มีนโยบายการทำเหมืองระเบิดหิน มีนโยบายทวงคืนผืนป่าเพื่อไปทำคาร์บอนเครดิต

เพียงแต่ปัญหาต่างๆเหล่านี้มันได้เกิดขึ้นเพียงลำพังแต่มันมีเรื่องความมั่นคงกดทับไว้อีกชั้นหนึ่ง ทำให้ผู้เดือดร้อนจากปัญหาเหล่านั้นไม่กล้าแม้จะส่งเสียงคัดค้านออกมา ยิ่งทำให้ข้าราชการจับมือกับนายทุนและ ศอ.บต.มาแสวงหาผลประโยชน์จากการแย่งชิงทรัพยากรนั้นมากขึ้นไปอีก.

ตอนที่ผมนั่งรถผ่าน ศอ.บต. มีคนชี้ให้ดูว่า นี้ศอ.บต.ที่ใหม่ มีการปรับปรุงใหม่มิรู้จะเสร็จเมื่อไร ดูกว้างใหญ่หรูหราขึ้นทุกปี แต่ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เคยคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นมาได้เลย”

คุณบารมี เปิดเผยต่อว่า สำหรับสกายวอล์คอัยเยอร์เวงที่เราไปชมทะเลหมอกแสนงามนั้น สร้างโดยเงิน อบต.อัยเยอร์เวง แต่กรมป่าไม้ยึดไปเพราะว่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แล้วกรมป่าไม้ไปประกาศเป็นเขตนันทนาการ แล้วเข้าไปบริหารจัดการเอง โดยเสียค่าเข้าบริการ 40 บาทต่อคน และค่ารองเท้าอีก 40 บาท่ต่อคน รวมเป็น 70 บาท นี่ยังไม่นับค่ารถโดยสารขึ้นลงอีกขาละ 35 บาทต่อคน อีกต่างหาก

ถ้าเป็นเอกชนเข้าไปลงทุนแบบนี้คงไม่โดนยึด เพราะกรมป่าไม้จะแนะนำให้ขออนุญาตให้โดยเสียค่าตอบแทนได้ แต่พอเป็นท้องถิ่นทำกรมป่าไม้ก็เลยยึดไปหาผลประโยชน์โดยที่แทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แบ่งให้ชาวบ้านนิดหน่อยเท่านั้นเอง ชาวบ้านเลยต้องมาหารายได้เพิ่มด้วยการเก็บค่ารถแพง แต่ถ้าให้ อบต.บริหารจัดการ รายได้จะเข้าท้องถิ่น ชุมชนจะได้ประโยชน์ ไม่ใช่กรมป่าไม้ยึดไป

ที่เป็นปัญหาแบบนี้ก็เพราะอำนาจมันอยู่ในรัฐส่วนกลางมากเกินไป อบต.ไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรอย่างแท้จริง และอำนาจรัฐส่วนกลางมันไม่เห็นหัวชาวบ้าน

ถ้าผมเป็น อบต.อัยเยอร์เวง ผมจะทำด่านปิดเปิด ตรวจรถเข้าออกทุกคันที่เข้าไปเที่ยวโดยอ้างการรักษาความปลอดภัยในชุมชน ให้นักท่องเที่ยวหนีไปให้หมดเลย จนกว่ากรมป่าไม้จะอนุญาตให้ อบต.ใช้ประโยชน์ได้นั่นแหละ

.
นิสาพรรณ์ หมื่นราม ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ได้สะท้อนถึงประสบการณ์ของชาวบ้านที่โดนกระทำอย่างไม่เป็นธรรม อาทิ

“เมื่อก่อนเราเข้าป่าไปหาสะตอขายในตลาด แต่หลังๆมาเจ้าหน้าที่บอกว่าให้ได้แค่ไม่เกิน 10 ฝัก ถ้าเกินไปก็โดนตักเตือนจากเจ้าหน้าที่”

“มีคนเข้าไปหากระจงมาทำกิน ถูกจับปรับจำคุกหลายสิบปี พวกเขาไม่รู้ว่ามันผิดเพราะเป็นวิถีชีวิตปกติที่นี่สามจังหวัดที่เคยทำมา “

“ชาวบ้านเคยตัดไม้สร้างบ้าน แต่ตอนนี้ตัดไม่ได้เขาห้ามตัด”

“แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าที่เราอยู่เป็นที่ป่า”

“มีคนต่อนกได้นกมาแล้วก็โพสลงเฟสบุคเจ้าหน้าที่ตามมาที่บ้านถามว่า มีนกชนิดนี้อยู่หรือไม่ เขาปรับเป็นเงินแล้วก็ปล่อยนกตัวนั้น ทุกวันนี้ชาวบ้านยังเข้าใจว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง”

นิสาพรรณ์ กล่าวว่า “ปัญหาด้านทรัพยากรในสามจังหวัดภาคใต้ถูกบดบังด้วยปัญหาความมั่นคง การถูกแย่งชิงทรัพยากรภายใต้โครงการที่หน่วยงานอ้างว่าพัฒนาของภาครัฐ การบังคับใช้กฎหมายที่ซับซ้อนคือปัญหาใหญ่ของคนที่นี่”

.