หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2518 ลงข่าวเกี่ยวกับการฆาตกรรมที่สะพานกอตอ ซึ่งหลังจากมีเหตุการณ์สังหารประชาชนปาตานี 5 รายและมีผู้รอดชีวิต 1 ฅน เป็นเด็กวัยสิบสี่ชื่อสือแม บราเซะ ซึ่งญาติพี่น้องของสือแมพาเขาไปรักษาตัวและหลบซ่อนตามที่ต่าง ๆ ต่อมาสมาชิกกลุ่มสลาตันมีส่วนร่วมในการพาตัวสือแมและผู้ปกครองเดินทางไปกทม. เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลส่วนกลาง ประเด็นหลักคือขอให้มีการสอบสวนการสังหารหมู่ครั้งนี้ รวมทั้งต่อมาเขาได้ไปปรากฎตัวบนเวทีการชุมนุมที่สนามหลวงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพี่น้องมลายูมุสลิมที่ถูกฆ่าต่อผู้ชุมนุม หนังสือพิมพ์บางสำนักลงข่าวว่า “…ประชาชนสายบุรีโกรธแค้นจัด…อาจมีการเคลื่อนไหวที่ปัตตานี“
ส่วนที่ปาตานี/ชายแดนใต้ทางญาติก็ได้ไปแจ้งความ หากแต่ว่าเจ้าหน้าที่ที่รับแจ้งสมัยนั้นไม่มีความคืบหน้าต่อรูปคดีตามที่รับปากชาวบ้าน จึงมีการรวมตัวกันของชาวบ้านประมาณ 300 คน เพื่อเดินขบวนไปเรียกร้องความเป็นธรรมที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยการนำของนักศึกษากลุ่มสลาตันจากกรุงเทพฯที่กลับมาบ้านเกิด และมีนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ร่วมสมทบ เช่น มอ.ปัตตานี, โรงเรียนสตรียะลา, โรงเรียนเบญจมราชูทิศ, โรงเรียนการช่างชาย, โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, โรงเรียนประจำจังหวันราธิวาส, โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง ยะลา, โรงเรียนสายบุรี แจ้งประชาคาร อีกทั้งมีโต๊ะปาเก(คำเรียกนักเรียนที่ศึกษาปอเนาะ) จากโรงเรียนปอเนาะต่าง ๆ ทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ และประชาชน ประมาณ 1,000 ฅน
การประท้วงวันแรก เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี เป็นการชุมนุมอย่างสันติ เพื่อเรียกร้องกรณีที่ทหารนาวิกโยธินไทยฆ่าชาวมลายูมุสลิม 5 ฅน และรอดชีวิตมาได้อย่างปฏิหาริย์อีกฅนหนึ่ง ที่ชุมนุมภายใต้การนำของ “ศูนย์พิทักษ์ประชาชน” มีการอภิปรายเปิดโปงเหตุการณ์ที่สะพานกอตอและเหตุการณ์การละเมิดสิทธิประชาชนโดนกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในครั้งที่แล้วๆ ด้วย สำหรับข้อเรียกร้องมี 4 ข้อ คือ 1.) ให้รัฐบาลจับฆาตกรมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม 2.) ให้รัฐบาลจ่ายค่าเสียหายต่อญาติพี่น้องของผู้ถูกสังหารเสียชีวิต 3.) ให้รัฐบาลพิจารณาถอนกำลังทหารที่ส่งมาปราบปราม ภายใน 7 วัน 4.) ให้นายกรัฐมนตรีมาให้คำตอบตามคำเรียร้องและทบทวนแนวนโยบายของรัฐบาลใน 4 จังหวัดภาคใต้
วันที่สองของการประท้วง เป็นวันศุกร์ ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้น มีการแห่ศพจำลองรอบ ๆ เมืองด้วย จนมาถึงวันที่สาม คือ วันที่ 13 ธ.ค. 2518 ซึ่งตรงกับวันอีดิลอัฎฮา (รายอกุรบ่าน) ผู้ฅนเริ่มหนาตากว่าสองวันแรกเพราะเป็นวันหยุดรายอ(อีดใหญ่) ในเวลาเย็นของวันนั้นท่ามกลางฝนตกหนักช่วงเวลาของการละหมาดมัฆริบ ขณะที่การปราศรัยกำลังเข้มข้น ไฟฟ้าดับโดยไม่ทราบสาเหตุจากนั้นก็มีระเบิดปาใส่ฝูงชนที่ชุมนุมและมีการยิงปืนใส่ผู้ปราศรัยบนเวทีถึงแก่ชีวิต คือ ครูมามุ ดือมะลี (อุสตาซมะห์มูด บิน อับดุลลาตีฟ) ครูจากโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามพ่อมิ่ง (ปอเนาะพอเม็ง) ที่กำลังถือไมค์ดึงสติมวลชนให้อยู่ในความสงบ ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตรวม 13 คนตามข่าวในตอนนั้น(แต่มาทราบภายหลังว่ามีผู้รอดชีวิต 2 คน) และในจำนวนนี้มีนักศึกษากลุ่มสลาตันเสียชีวิตรวมอยู่ด้วยคือ นายธรรมนูญ มะรอเซะ (อาฟันดี) ซึ่งเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์หรือรามคำแหงก็ไม่แน่ใจ
แม้ว่าทันทีที่สิ้นเสียงระเบิด ควันปืนและคาวเลือดนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมจะสลายตัวที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี แต่ในเวลาต่อมาพวกเขาก็รวมตัวกันอีกที่มัสยิดกลางของจังหวัดปัตตานี การชุมนุมย้ายสถานที่ใหม่มีประชาชนไปร่วมชุมนุมมากขึ้นกว่าเดิมเป็นเรือนแสน และต่อมามันได้กลายเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ที่กินเวลายาวนานมากที่สุดถึง 45 วัน มีคนไปเข้าร่วมการชุมนุมมากเป็นประวัติการณ์สำหรับพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้ไปสิ้นสุดลง ในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2519
สำหรับศพผู้เสียชีวิต ถูกแห่ศพไปฝังที่กูโบร์โต๊ะอาเยาะห์(จะบังติกอ) มีผู้ร่วมแห่ศพเป็นระยะทางยาวประมาณ 2 กิโลเมตร และฝังศพรวมกันทั้ง 13 ราย โดยผู้เสียชีวิตได้รับการยกย่องว่าเป็นชาฮีด อย่างไรก็ตามสิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้ออกไปร่วมชุมนุมอย่างมากในช่วงนั้น หลายคนที่เคยไปร่วมชุมนุมเห็นพ้องตรงกันว่า ไม่ใช่เพราะเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนที่สะพานกอตอเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะสถานการณ์การละเมิดสิทธิประชาชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาอย่างยาวนานก่อนหน้านั้นที่ทำให้อาการเก็บกดระเบิดออกมา เหตุการณ์สะพานกอตอกลายเป็นชนวนของฟางเส้นสุดท้ายที่ย้ำถึงปัญหา และถูกโหมแรงไฟด้วยการโยนระเบิดใส่ผู้ชุมนุมและยิงใส่ผู้ปราศรัยบนเวที
การชุมนุมในครั้งนี้ นับว่าเป็นการชุมนุมของภาคประชาชนโดยแท้จริง (เป็นการตั้งข้อสังเกตของอ.อารง สุทธาศาสน์ ที่เขียนไว้ในหนังสือปัญหาความขัดแย้งสี่จังหวัดภาคใต้ (หน้า 35) และจากการลงพื้นที่ของทีมงานเพื่อสัมภาษณ์ผู้ที่ร่วมชุมนุมในสมัยนั้น จึงมีข้อสรุปว่ามันคือการชุมนุมของภาคประชาชนจริงๆ) แม้ว่าจะมีการนำจากนักศึกษาที่มาจากส่วนกลางร่วมกับนักศึกษาในพื้นที่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เครือข่ายปอเนาะ โรงเรียนสอนศาสนาก็เป็นมวลชนหลัก รวมถึงประชาชนทั่วทุกระแหงเดินทางจากหมู่บ้านทั่วสามจังหวัดและ 4-5 อำเภอในจังหวัดสงขลาก็มาร่วมชุมนุม ด้านนักการเมืองก็สนับสนุนอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ชุมชนในเมืองปัตตานีและชุมชนรอบนอกก็ซัพพอร์ตอาหารการกิน น้ำดื่ม ให้แก่ผู้ชุมนุมตลอดระยะเวลา 45 วัน ความช่วยเหลือทุกอย่างหลั่งไหลมายังสถานที่ชุมนุมไม่ขาดสาย อย่างไรก็ดี การสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมมาร่วมการชุมนุมก็เป็นไปอย่างเข้มข้น มีด่านสกัดหรือจุดตรวจ เช่น ที่แยกปาลัส, ที่แยกดอนยาง เป็นต้น รถของประชาชนที่มาร่วมชุมนุมก็ถูกสกัดด้วยเรือใบที่ทำจากตะปู จนล้อยางแบน ชาวบ้านก็แก้ลำด้วยการผูกกาบมะพร้าว บางคันผูกถุงกระสอบผ้าป่าน เพื่อปัดเรือใบที่ดักล้อรถบนถนน
แต่ถึงกระนั้นแล้ว การชุมนุมที่ปัตตานีพ.ศ.2518 ก็เป็นการต่อสู้ทางการเมืองของคนในพื้นที่ที่จบลงอย่างไม่เป็นที่พอใจสำหรับหลายๆ ฅน แม้ผู้ที่เคยไปร่วมชุมนุมจะโล่งใจที่สามารถสลายการชุมนุมได้อย่างสันติ ทั้งๆ ที่ช่วงท้ายของการชุมนุมจะตึงเครียดจากท่าทีที่แข็งกร้าวของรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมถึงสื่อส่วนกลางเช่น “ดาวสยาม” ลงข่าวโจมตีและบิดเบือนว่า กลุ่มสลาตันเป็นต้นเหตุให้เกิดการระเบิดตายหมู่ และพาดหัวอื่นๆ อาทิ “ผู้ชุมนุมปัตตานีสะสมอาวุธ วางแผนให้นักโทษแหกคุก สู้ทหาร-ตำรวจ” รวมถึงความตึงเครียดในที่ชุมนุมจากการมีนายทหารเมาเหล้าขับรถแหวกเข้ามาในฝูงชนและชนคนบาดเจ็บสองคน จึงถูกฝูงชนที่โกรธเกรี้ยวรุมตี-แทงจนเสียชีวิต ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนสลายการชุมนุมก็ได้มีการเจรจากัน แต่ข้อตกลงที่ได้มาจากการเจรจาต่อรองนั้นกลับไม่ได้รับการสานต่อและถูกทำให้เงียบหลังจากนั้น โดยเฉพาะในเรื่องของการสอบสวนคดีสะพานกอตอและกรณีการปาระเบิดรวมทั้งยิงผู้ปราศรัยในการชุมนุม
ความสิ้นหวังของประชาชน คือผลกระทบหลังการชุมนุมที่รุนแรงยิ่งกว่าบทสรุปอย่างไม่เป็นที่พอใจจากการชุมนุม เพราะหลังจากที่ประชาชนสลายการชุมนุมไปแล้ว บางฅนพบว่าตัวเองเป็นที่เพ่งเล็งและถูกติดตาม และสำหรับฅนที่มีบทบาทเป็นแกนนำในการจัดชุมนุมก็หายตัวไป ชาวบ้านเชื่อว่าบางคน “โดนเก็บ” มันทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องหลบหนีออกจากพื้นที่ไปอยู่ส่วนอื่นของประเทศไทย บางคนเดินทางออกจากประเทศไทย ไปมาเลเซียหรือไกลกว่านั้นเช่นแผ่นดินอาหรับ บ้างออกไปชั่วคราวเป็นเดือน เป็นปี บ้างก็ไม่กลับมาอีกเลย
อ้างอิง :
[1] อ.บางนรา. ปัตตานี อดีต-ปัจจุบัน.ชมรมแสงเทียน, 2519.
[2] “ประวัติศาสตร์เดือนตุลากับการต่อสู้ทางการเมืองในสามจังหวัดภาคใต้” voicetv. 6 ตุลาคม 2561. https://www.voicetv.co.th/read/SyBNFaBq7… (สืบค้น 9 ธันวาคม 2563).
[3] อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์. กลุ่มสลาตัน กลางกระแสประชาธิปไตยเบ่งบาน : ขบวนการนักศึกษามลายูปาตานี พ.ศ. 2515-2520.กรุงเทพฯ : มูลนิธิเพื่อการศึกษาพัฒนาเด็กและเยาวชน, 2558.