พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตัวเองไม่เคยรู้จักทนายสมชายเป็นการส่วนตัว แต่ช่วงที่ทนายสมชายหายตัวไป ตนรู้ว่ามีการสูญหายเนื่องจากนั่งรถเมล์ผ่านเห็นมีการติดป้ายหน้าสภาทนายความ โดยในช่วงแรกจะมีการนับวันที่ทนายสมชายหายตัวไป จึงเกิดความสงสัยว่าทนายสมชายเป็นใคร
ช่วงนั้นกำลังเรียนเรื่องสืบสวนสอบสวนในคดีอาญา ทางมหาวิทยาลัยเชิญอาจารย์ที่เป็นอาจารย์พิเศษมาจากข้างนอก และอาจารย์ที่ถูกเชิญมาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ท่านเล่าว่าท่านเคยทำคดีหนึ่งซึ่งมีทนายสมชายเป็นทนายในคดีนั้นด้วย
จริงๆ ท่านพูดเชิงปฏิเสธว่า ไม่มีใครอุ้มทนายสมชายหรอก ถ้าใครที่อยากจะอุ้มทนายสมชายก็อาจจะเป็นเขาเอง เพราะว่าทนายสมชายเป็นคนทำให้คดีความมั่นคงหลุดไป หรือไม่ได้รับการลงโทษ ตำรวจฅนนั้นก็รู้สึกว่าทนายสมชายไปช่วยผู้กระทำความผิด
ซึ่งตอนที่เราฟังตอนนั้นเรารู้สึกโกรธมากว่าทำไมคณะเลือกอาจารย์แบบนี้มาสอนนักศึกษา ในฐานะที่เป็นนักศึกษากฎหมายตอนนั้นก็รู้ว่าทนายความไม่ว่าจำเลยจะกระทำความผิด หรือไม่กระทำความผิด ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทุกคนมีสิทธิที่จะมีตัวแทนทางกฎหมาย
ดังนั้น ในการทำหน้าที่ทนายความ ไม่ใช่ทนายความเป็นตัวความเสียเอง ทนายความจะทำหน้าที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ส่วนเรื่องจริงจะเป็นอย่างไรมันก็ขึ้นอยู่กับศาลที่จะตัดสิน แต่ว่าเมื่อศาลตัดสินยกฟ้อง แสดงว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แสดงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แสวงหาหลักฐานมาอย่างเพียงพอที่จะพิสูจน์กับศาลได้
หลังจากเรียนจบปี 2551 ก็เริ่มจากงานอาสาสมัครนักกฎหมายที่เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมัยนั้นเป็นช่วงรัฐบาลทหารปี 2550 หลังจากที่ประเทศไทยให้สัตยาบันกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน เมื่อไทยเป็นภาคี องค์กรที่ทำงานอยู่ก็มีความสนใจว่าจะทำให้เรื่องราวของการต่อต้านการซ้อมทรมานเข้ามาเป็นกฎหมายไทยได้อย่างไร
เพราะว่าในระบบกฎหมายบ้านเรา เวลาเราไปเป็นภาคีกับกฎหมายต่างประเทศยังไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้โดยตรง เพราะต้องนำมาเป็นกฎหมายภายในก่อน องค์กรเราก็พยายามที่จะร่างกฎหมายฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการป้องกันการซ้อมทรมาน
นั่นทำให้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมก็ทำงานร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมด้วย ทำให้ได้เห็นปัญหาการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีปัญหาหลายอย่าง
หากเราเป็นนักกฎหมายทั่วไปเราจะรู้ว่า การทรมานพยานนั้นถือว่าเป็นหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบ แต่พอไปถึงศาลเวลาต่อสู้คดี ศาลก็จะยังคงรับฟังหลักฐานนั้น แล้วบอกว่าเรื่องการทรมานเป็นอีกคดีหนึ่ง
เรื่องการทรมานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ประเด็นว่ามีการทำร้ายร่างกาย แต่เพราะว่ามันเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนนั้นกลับเป็นผู้กระความผิดเสียเอง
ตรงนี้ทำให้ปัญหาการทรมานรวมทั้งการอุ้มหายมีความยากลำบากที่เราจะต้องผลักดันกฎหมายและเรียกร้องโทษที่สูงมากกว่าการซ้อมทรมานหรือการทำร้ายร่างกายทั่วไป เพราะมันเป็นเรื่องร่างกายบวกกับเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมด้วย
เรายังไม่มี พ.ร.บ.มิให้บังคับบุคคลสูญหาย แต่ปี 2555 เคยมีการลงนามอนุสัญญามิให้บังคับบุคคลสูญหาย จนนำมาสู่การผลักดันเพื่อให้เข้าสู่สภา แต่จนถึงปัจจุบันร่างดังกล่าวก็ยังไม่ผ่าน
และเริ่มตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2560 รวม 10 ปีในความพยายาม ต้องบอกว่าทุกภาคส่วน เหยื่อที่เสียหายที่ร้องเรียนว่ามีการทรมาน มีการอุ้มหายเกิดขึ้น เราเห็นความกล้าหาญของเขา รวมถึงหัวหอกในเรื่องของการรณรงค์เรื่องการอุ้มหายก็ต้องถือว่าเป็นคุณูปการของครอบครัวนีละไพจิตรที่ผลักดันประเด็นนี้มาตลอด
ทนายสมชายเองก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของฅนที่พยายามเรียกร้องสิทธิของฅนที่ถูกกระทำ และถือว่าเป็นตัวอย่างให้กับรุ่นน้องในความกล้าหาญที่จะทำหน้าที่ตามวิชาชีพต่อไป
หมายเหตุ : งานชั้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท (Sun, 2017-03-12 / 19:39)
ลิงค์ฉบับเต็ม : https://prachatai.com/journal/2017/03/70535
อ่านเพิ่มเติม :
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 1
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 3
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 4
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ ตอนที่ 5