บรรยายเรื่องโดย อาจารย์ฮาซัน ยามาดีบุ
แปลและเรียบเรียงโดย The Motive
ราชาอาณาจักรลังกาสุกะที่ปกครองราษฎร์เสมือนปกครองลูกมีชื่อว่า ราชามหาบังสา (Raja Maha Bangsa) และทรงมีมเหสีอยู่หลายพระองค์ แต่ไม่ได้มีการอภิเษกสมรสกัน โดยมีโอรสธิดามากมาย
ราชามหาบังสาจะส่งโอรสของตนไปปกครองรัฐต่างๆ ภายในเขตอาณาจักรลังกาสุกะ และมีศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่รัฐปาตานี (Patani State City) เป็นข้อมูลจากการบันทึกของ เชค ซอฟียุดดีน อัล-อับบาซี
อาจารย์ฮาซัน ระบุว่า “เคยสำรวจหลายพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ (ปาตานี) เจอซากเมืองโบราณที่มีอายุอานามรุ่นราวคราวเดียวกันกับอาณาจักรลังกาสุกะอยู่หลายพื้นที่
นอกจากเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี แล้ว ยังมีพบอยู่ที่บ้านเขาพระ (บูเก๊ะซามี) ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส บ้านมลายูบางกอก ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา บ้านพงยือไร ต.บันนังสาเรง อ.เมือง จ.ยะลา บ้านยาลอ ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา บ้านเปียน (ปียา) ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา และพบที่ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นต้น”
การปกครองของอาณาจักรลังกาสุกะในรัชสมัยของราชามหาบังสา (Raja Maha Bangsa) อ่อนแอกว่าราชาสังไชยบังสา (Raja Sang Jaya Bangsa) ซึ่งเป็นราชาของอาณาจักรศรีวิชัย (Sri Wijaya)
อาณาจักรศรีวิชัยเดิมที่มีอาณาเขตปกครองอยู่ที่เกาะสุมาตรา มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ปาเล็มบัง (Palembang) ปัจจุบันเป็นเมืองหลักของจังหวัดสุมาตราใต้ ทางฝั่งตะวันออกตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย
ชาวปาเล็มบังมีความสามารถในการทำสงครามด้วยเรือ และไม่เคยพ่ายแพ้ผู้ใดในการทำสงครามกับใครก็ตามแต่ที่ปรารถนา เพราะความสามารถนี้ทำให้ชาวมลายูในอาณาจักรลังกาสุกะเกรงกลัวอย่างมาก
ราชาสังไชยบังสา (Raja Sang Jaya Bangsa) ปกครองอาณาจักรศรีวิชัยในช่วงปี ค.ศ.750 หลังจากท่านศาสดาอีซา บุตรของ มัรยัม (ศาสดาฅนที่ 24 ของศาสนาอิสลาม) หรือ พระเยซู (ศาสดาของศาสนาคริสต์) ประสูติ หรือช่วง 1,270 ปีที่ผ่านมา
ช่วงเวลานั้นอาณาจักรศรีวิชัยแพร่ขยายอาณาเขตด้วยการทำสงครามมายังรัฐต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรลังกาสุกะ จนในที่สุดอาณาจักรลังกาสุกะพ่ายแพ้สงครามและอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรศรีวิชัยเป็นต้นมา
หลังจากนั้นประมาณ 200 ปี ปาตานี พึ่งจะมีชื่อว่า ปาตานี ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังจะย้ายราชธานีจากเมืองยืแร (อ.ยะรัง จ.ปัตตานี) ไปยังเมืองกรือเซะ (บ้านกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี)
ในตำนานบันทึกไว้ว่า ราชากำลังหาสถานที่เพื่อสร้างราชธานีแห่งใหม่ เนื่องจากเมืองนี้ผู้ฅนจะมีชีวิตรอดได้ด้วย 2 ปัจจัย หนึ่ง จับปลาในแม่น้ำ และสอง คือ การเพาะปลูก ซึ่งสถาที่ที่เหมาะสมที่สุดนั้นคือ หมู่บ้านโต๊ะตานี (Kampung Tok Tani)
มีการนำไปกราบบังคมทูลว่า สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่อุดมสมบูณณ์ด้วยป่าไม้และทะเลอันสวยงาม อีกทั้งยังมีสภาพอากาศที่เหมาะสมมากหากจะสร้างราชธานีแห่งใหม่
“โต๊ะตานี (Tok Tani)” เดิมคือชื่อหัวหน้าหมู่บ้าน หรือที่ชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้เรียกว่า “เปาะตานี (Pak Tani)” จนนำมาสู่การตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า “ปาตานี (Patani)” จวบจนถึงปัจจุบัน
โปรดติดตาม ตอนต่อไป
อ่านเพิ่มเติม :
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 1
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 2
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 3
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 4
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 6
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 7
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 8
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 9
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 10