บรรยายเรื่องโดย อาจารย์ฮาซัน ยามาดีบุ
แปลและเรียบเรียงโดย The Motive
จากความตอนที่แล้วจะกล่าวถึงที่มาของชื่อปาตานี โดยหนังสือประวัติศาสตร์ปาตานี (Tarikh Patani) ระบุว่า ชื่อ “ปาตานี” มาจากชื่อผู้นำหมู่บ้านโต๊ะตานี โดยมีผู้นำชื่อว่า “เปาะตานี” ราชาลังกาสุกะต้องการสร้างราชธานีแห่งใหม่ แล้วไปเจอสถานที่แห่งนี้
ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งที่ระบุในหนังสือตำนานปาตานี (Hikayat Patani) ว่า ชื่อปาตานีมาจากคำว่า “ปันตัยอีนี (Pantai ini)” แปลว่า “ทะเลแห่งนี้” ซึ่งเป็นจุดสถานที่ที่กวางหายไปหลังจากราชาออกมาล่าสัตว์จนมาเจอกวางตัวหนึ่งหนีจากการล่าของราชาและหายไปในที่สุด
ปาตานี (จังหวัดชายแดนใต้) เป็นเมืองท่าที่ทำการค้าแห่งใหม่ที่รุ่งเรืองมาก ทำการค้ากับชาวเขมร จีน ลิกอร์ (จ.นครศรีธรรมราช) ซึงโฆรา (จ.สงขลา) และเป็นที่ว่าการด้านการจัดการบ้านเมือง
ส่วนสินค้าที่ค้าขายได้จะมี ทองคำ ปลา มะพร้าว ไม้หวาย ไม้ท่อนใหญ่ที่ใช้ทำเสากลางของเรือ และดามาที่ใช้ทำแสงไฟ
ในยุคสมัยอาณาจักรลังกาสุกะภายใต้การปกครองของราชวงค์มหาวังสา ผู้ปกครองเมืองทั้งหมดเป็นพี่น้องกัน อาทิเช่น เมืองกือดะห์ (รัฐเคดาห์ มาเลเซีย) ทำการค้ากับชาวฮินดู เปอร์เซีย และอาหรับ
เมืองปาตานี (จังวัดชายแดนใต้) เป็นเมืองคู่ขนานกับเมืองกือดะห์ (รัฐเคดาห์ มาเลเซีย) เปิดมาเพื่อให้ง่ายต่อการทำการค้ากับชาวเขมร จีน และชวา ซึ่งระหว่างสองเมืองนี้ใช้เวลาเดินทางไปมา 1 เดือน 25 วัน
ต่อมาก็ได้เปิดเมืองใหม่อีก 2 เมืองคือ เมืองซึงโฆรา (จ.สงขลา) และเมืองลิกอร์ (จ.นครศรีธรรมราช) ซึ่งทั้ง 4 เมืองนี้จะมีผู้ปกครองเป็นพี่น้องกัน สืบเชื้อสายมาจากราชามะโรง มหาวงศ์ หรือ มะโรง มหาวังศา (Merong Mahawangsa) ซึ่งเป็นผู้สถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์องค์แรกแห่งอาณาจักรลังกาสุกะ
แต่พอมาถึงยุคสมัยอาณาจักรศรีวิชัยเข้ามาก็ได้ทำการยึดครองทั้ง 4 เมืองนี้ รวมไปถึงการเปิดเมืองใหม่เป็นเมืองที่ 5 หลังจากรบชนะกับกองทัพของราชาชัยวรมันที่ 7 ราชาอาณาจักรเขมร นั้นคือ เมืองไชยา (อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี) โดยได้ตั้งชื่อเมืองตามพระนามของราชาอาณาจักรศรีวิชัยในสมัยนั้น คือ ราชาสังไชยบังสา (Raja Sang Jaya Bangsa)
หลังจากนั้นอาณาจักรศรีวิชัยกับอาณาจักรเขมร ได้ทำสนธิสัญญาสงบศึกที่คอคอดกระ (Segentingkera) เป็นส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมลายูอยู่ในเขตบ้านทับหลี ต.มะมุ อ.กระบุรี จ.ระนอง กับ อ.สวี จ.ชุมพร
ที่ตรงนั้นจะมีหินใหญ่เขียนด้วยภาษาปาลาวะ มีความหมายว่า “ที่นี่ คือ จุดเริ่มต้นของแผ่นดินมลายู (Disinilah bermulai tanah Melayu)” ฅนอังฤษจะเรียกว่า “Malay Peninsula หรือ Semenanjung Tanah Melayu” แปลว่าคาบสมุทรมลายู
หลังจากนั้นอาณาจักรศรีวิชัยได้ทำการย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองลิกอร์ (จ.นครศรีธรรมราช) ซึ่งมีหลักฐานที่ระบุว่า ราชาเมืองกือดะห์ (รัฐเคดาห์ มาเลเซีย) เตรียมการส่งข้าวของไปยังเมืองลิกอร์ (จ.นครศรีธรรมราช) เพื่อสร้างเจดีย์ หรือ สถูป ในการเคารพนับถือสักการบูชา
แต่พอเดินทางมาถึงเมืองยาลอ (บ้านยาลอ ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา) ก็ได้ข่าวคราวมาว่า เจดีย์ ที่เมืองลิกอร์ (จ.นครศรีธรรมราช) ถูกสร้างเรียบร้อยแล้ว จึงได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่วัดหน้าถ้ำ (บูเกะ บาโย) ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งตั้งอยู่ในอาณาเขตของเมืองยาลอในสมัยนั้น
หากได้สังเกตุพระพุทธรูปองค์นี้จะเห็นชัดว่ามีลักษณะที่แตกต่างจากพระพุทธรูปอื่นๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย เพราะลักษณะจะเหมือนพระพุทธรูปมลายู
ส่วนอาณาจักรสยามในยุคสมัยนั้นยังไม่ถูกกล่าวถึง ในหนังสือประวัติศาสตร์ปาตานี (Tarikh Patani) จะกล่าวถึงชาวซำซำที่นับถือศาสนาพุทธและพูดภาษาไทย แต่จะไม่เรียกว่าชาวสยาม ใช่ฅนกลุ่มเดียวกันหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่แน่ใจ
ลิงค์บรรยายต้นฉบับภาษามลายู : https://web.facebook.com/watch/?v=1246902318814698&extid=aBpgUGrbEPzQoBil
อ่านเพิ่มเติม :
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 1
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 2
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 3
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 4
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 5
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 7
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 8
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 9
ถอดประวัติศาสตร์มลายูปาตานี ตอนที่ 10