66 ปี การสูญหายของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา

66 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2497(ค.ศ.1954) หลังหะยีสุหลงและอาห์หมัด บุตรชายพร้อมด้วย แวสะแม มูฮัมหมัดและเจ๊ะสาเฮาะ ยูโซ๊ะ ออกจากบ้านเพื่อไปพบตำรวจสันติบาลที่สงขลา จากนั้นก็ไม่ได้กลับบ้านอีกเลย ครอบครัวของหะยีสุหลงก็ออกตามหาทั้งที่ปัตตานี สงขลาและกรุงเทพฯ ทั้งทำหนังสือร้องเรียนและเข้าพบนายตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการภาค ไปจนถึงรัฐมนตรีเพื่อให้ตามหาบุคคลทั้ง 4 แต่ก็ดูเหมือนไร้วี่แวว ทั้งไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยราชการต่าง ๆ มากนัก

จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน ข่าวการหายตัวไปของหะยีสุหลงพร้อมกับระบุว่าถูกเจ้าที่ตำรวจไทยสังหาร ก็ปรากฎขึ้นบนหน้าหนังสือพิมพ์ในมลายา โดยเฉพาะอุตูซันมลายู ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ภาษามลายูที่ทรงอิทธิพลที่สุดในมลายา (ขณะนั้นพิมพ์ด้วยตัวยาวีและตีพิมพ์ที่สิงคโปร์) เรื่องนี้หนังสือพิมพ์หัวต่าง ๆ ได้มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องทั้งยังสันนิษฐานไปว่าหะยีสุหลงถูกทางการไทยสังหารเสียชีวิตและติดตามความเคลื่อนไหวและท่าทีของบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการทราบถึงความเป็นไปของหะยีสุหลงและพวกที่หายตัวไปซึ่งทำให้เห็นว่าข่าวหะยีสุหลงเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางและองค์กรมลายูมุสลิมต่าง ๆ ในมลายาก็สนใจติดตาม

เช่น “สมาคมอิสลามทั่วมลายา” ที่สิงคโปร์ได้เปิดประชุมพิเศษเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2497/1954 เพื่ออภิปรายเรื่องหะยีสุหลงหายตัวไป เรียกร้องให้มีเรื่องดังกล่าวเป็นญัตติในที่ประชุมผู้นำศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเป็นการกดดันให้รัฐบาลไทยออกมาชี้แจง เพราะเรื่องหะยีสุหลง เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้ของไทย “ถ้าหะยีสุหลงและพวกถูกตำรวจไทยยิงทิ้งดังที่เป็นข่าวแล้ว ย่อมชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไทยได้ปกครองอย่างไม่เป็นธรรม”


การหายตัวไปของหะยีสุหลงถูกมองว่าเป็นการ “อุ้ม” (แม้ว่าในสมัยนั้นยังไม่มีคำนี้) ของตำรวจไทยตั้งแต่สมัยนั้น แต่ทว่าการกลายเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชี้แจงในหมู่นักการเมืองและผู้นำศาสนาอิสลามในมลายา จนทำให้รัฐบาลไทยต้องออกแถลงการณ์และส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ข่าวและทำความเข้าใจแก่สื่อมวลชนว่าทางการไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ย้อนกลับไปในปีที่หะยีสุหลง ถูกจับด้วยข้อหา “คิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง” ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2491 และเจ้าหน้าที่ได้คัดค้านการประกันตัว ด้วยหะยีสุหลงเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามปัตตานีคนแรกและเป็นดัง “โลหิตแห่งชีวิต” ของชาวมลายูในรัฐทางภาคใต้ของสยาม เขายังเป็นผู้นำทางศาสนาใน 4 รัฐ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา สตูลและบางนรา สานุศิษย์ของหะยีสุหลงไม่เพียงแต่มลายู 700,000 คนใน 4รัฐแต่ยังรวมถึงชาวมลายูในตอนเหนือของมลายาด้วย ทำให้ผู้อ่านในมลายารู้จักหะยีสุหลงในหน้าหนังสือพิมพ์หลายปีก่อนหน้าการตัวไปในปี พ.ศ. 2497/1954

ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ใน มลายาลงข่าวการเคลื่อนไหวทางการเมืองของปาตานีอย่างสม่ำเสมอในช่วงปี พ.ศ. 2490/1947 – 2492/1949 ชื่อบุคคลที่กล่าวถึงอย่างบ่อยครั้งคือ เต็งกูมะห์มูดมะห์ยิดดีน(Tengku Mahmood Mahyiddeen) ในฐานะอดีตเต็งกู บุตรชายของราชาองค์สุดท้ายของปาตานี กล่าวได้ว่าเป็น “ผู้นำของ 4 รัฐมลายูในภาคใต้ของสยาม” แต่อีกชื่อหะยีสุหลงเริ่มปรากฎขึ้นในพื้นที่ข่าวตอนต้นปี พ.ศ. 2491/1948 เมื่อหะยีสุหลงโดนจับกุมด้วยข้อหากบฎ ซึ่งตามติดมาด้วยข่าวการเคลื่อนไหวขอเต็งกูมะห์มูดมะห์ยิดดีนในนาม Gabungan Melayu Patani Raya (GAMPAR) กรณีดุซงญอ การลุกฮือและ “แบ่งแยกดินแดน” ซึ่งช่วงปี พงศ. 2491/1948 – 2492/1949 เป็นช่วงที่เหตุการณ์ในปาตานี ได้ถูกนำเสนอในหนังสือพิมพ์ สเตรทไทม์มากที่สุดเลยก็ว่าได้

นอกจากนี้สเตรทไทม์ ได้ติดตามการดำเนินคดีหะยีสุหลงกับพวกอย่างต่อเนื่องจนถึงมีมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่หลังจากปี พ.ศ.2493/1950 ข่าวคราวของหะยีสุหลงและสถานการณ์ในปาตานีก็เงียบหายไป จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายนอีก 5 ปีต่อมา ข่าวการหายตัวไปของหะยีสุหลงพร้อมกับระบุว่าถูกเจ้าที่ตำรวจไทยสังหาร ก็ปรากฏขึ้นบนหน้าหนังสือพิมพ์ในมลายา

หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการสูญหายของฮัจยีสุหลงฯและคณะ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2501 ทำให้ทราบว่าบุคคลทั้งสี่ถูกคำสั่งฆ่าโดยผู้มีอำนาจครอบคลุมประเทศไทยเจ้าของคำขวัญ ” “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” สั่งด้วยคำสั้นๆว่า “มึงไปจัดการ!”

โดยผู้ที่ลงมือก็เป็นเจ้าหน้าที่ฯ ที่จับตัวไปหลังจากลงนามมารายงานตัวพร้อมนำบุคคลทั้งสี่ไปจัดการงานตามสั่งที่บังกาโลแห่งหนึ่งริมทะเลสาบสงขลา หลังจากนั้นจึงนำศพไปถ่วงทะเลสาบสงขลาบริเวณเกาะหนู เกาะแม

ทั้งหมดนี้เป็นคำสารภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มิอาจนำไปเป็นคดีสู่ศาลได้ เนื่องจากไม่มีพยานวัตถุที่เกี่ยวข้องหรือศพ อัยการจึงมีหนังสือมาถึงครอบครัวว่าไม่สามารถคำเนินคดีนี้ได้

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 66 ปี การสูญหายของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ยังคงฝังอยู่ในก้นบึ้งของความทรงจำของฅนปาตานีโดยที่สถานการณ์การอุ้มหายในปัจจุบันก็ยังคงอยู่เช่นเดิม


อ้างอิง :
-พุทธพล มงคลวรวรรณ. ใน “หะยีสุหลงยังไม่ตาย”, อ้างถึง. ชื่อเดิมบทความ หะยีสุหลงยังมีชีวิตอยู่”: ท่าทีของสยามต่อการหายตัวไปของหะยีสุหลงกับ “การสืบสวน” ของ ตวนกู อับดุล เราะห์มาน.
-อ้างถึง. The Straits Times, 28 January 1948, p. 6.
-อ้างถึง. The Straits Times, 18 November 1954, p. 7.
-เพจ มูลนิธิ”ฮัจยีสุหลง”
.