อิสมาอีล ฮายีแวจิ
.
“สะท้านฟ้า” แจง ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพ “นพ.แวมาหาดี” ย้ำ ที่คุยกันวันนี้ตัวจริงหรือตัวปลอม “รอมฏอน” แจ้ง จากการประเมินการพูดคุยที่ผ่านมาเชื่อว่าตัวจริงทั้งสิ้น ระบุ ที่ไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการ เพราะวิธีคิดแบบจำกัดทางเลือก
.
ด้าน “ภราดร” เชิญชวน ทำให้เป็นประชาธิปไตยก่อน ส่วนหน้าที่ขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมจะทำให้เอง “อารีเพ็ญ” ระบุ เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่อยากให้พูดคุย “ชารีฟุดดีน” ย้ำ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม กระบวนการสันติภาพถึงจะเกิด “นัจมุดดีน” แฉ โครงสร้างรัฐยังมีผลประโยชน์ทับซ้อน “กัณวีร์” แนะ ยุบ ศอ.บต. ยุบ กอ.รมน. ถึงจะแก้ปัญหานี้ได้
.
เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2566 เริ่มตั้งแต่เวลา 13.30-16.30 น.ทางเครือข่ายสื่อในพื้นที่ร่วมสื่อส่วนกลาง อาทิเช่น The Motive, The Reporters, The Standard, Patani NOTE, Wartani, Project Sama Sama, ข่าว 3 มิติ และคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ได้ร่วมจัดเวทีดีเบต เปิดศึกประชันวิสัยทัศน์สันติภาพ เลือกตั้ง 66 “พรรคการเมืองในเส้นทางสันติภาพปาตานี” ณ ห้องประชุม สนอ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
.
โดยมีตัวแทนนักการเมืองทั้งหมด 8 พรรคการเมืองด้วยกัน อาทิเช่น พรรคก้าวไกล พรรคเป็นธรรม พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคเสรีรวมไทย แต่ปรากฎว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกเชิญมาด้วยได้แคลเซิลร่วมงานก่อนจะมีงานขึ้นเพียง 1 วันเท่านั้น
.
พล.ต.ต สะท้านฟ้า วามะสิงห์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวเปิดประเด็นในเรื่องเส้นทางสู่สันติภาพในอนาคตว่า “ผมไม่ค่อยเชื่อมั่นในกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ผ่านมา เนื่องจากใช้เวลาในการเจรจามาตั้งนานแล้ว ถ้าจะสำเร็จมันควรสำเร็จตั้งไปนานแล้ว ส่วนการใช้กฎหมายพิเศษผมก็ไม่เห็นด้วย ช่วงแรกที่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุก็ยังยอมรับได้ แต่หลังจากเหตุการณ์มันคลี่คลายไปแล้ว กฎหมายพิเศษเหล่านี้มันก็ต้องยกเลิกไปด้วย ไม่ใช่ไปต่ออายุทุกๆ 3 เดือนอยู่อีก เพราะนั่นมันหมายความว่าวิกฤติมันจะไม่มีวันจบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ชีวิตของคนจะเจอแต่วิกฤติตลอดชีวิต
.
ด้าน นพ.แวมาหาดี แวดาโอะ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จ.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ ย้ำถึงความไม่เชื่อมั่นต่อประเด็นนี้ว่า “สับสนว่าการไปเจรจากันวันนี้เป็นคู่เจรจาตัวจริงหรือตัวปลอมกันแน่ แล้วที่คุยกันตอนนี้เรียกว่าเป็นการเจรจาได้แล้วยัง เพราะตอนนี้มันยังไม่ครบองค์ประกอบของการเจรจา เวทีตอนนี้เป็นเพียงเวทีการพูดคุย ไม่มีคนกลาง มีแต่มาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น ฉะนั้น หาตัวจริงมาก่อนที่จะเจรจาทั้งไทยและขบวนการ”
.
ส่วนทาง รอมฏอน ปันจอร์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้แจงให้ทั้งสองคนก่อนหน้าทราบว่า “ความเป็นจริงเท่าที่ผมประเมิน ซึ่งอาจจะจริงก็ได้ วันนี้คู่กรณีคือตัวจริงทั้งสิ้น เราผ่านการพูดคุยมา 10 กว่าปี ทั้งเปิดเผยและปิดลับมาถึงวันนี้ ทั้ง BRN และผู้แทนฝ่ายรัฐบาลไทยคือตัวจริง
.
แต่ปัญหาก็คือ ทำไมเรายังไม่สามารถที่จะฝ่าบรรดาอุปสรรคกรอบการคิดลักษณะพื้นฐานของความขัดแย้งออกไปแสวงหาข้อตกลงสันติภาพที่จริงได้ มองว่าอุปสรรคข้อหนึ่ง คือ การนำของตัวรัฐบาลเองทั้งทีเป็นตัวใหญ่ที่มีต้นทุนมหาศาล แต่ที่ผ่านมากลับทำได้เพียงแค่นี้
.
โดยเฉพาะรัฐบาลภายใต้การนำแบบวิธีคิดทหารที่มองทุกอย่างเป็นภัยคุกคาม จำกัดทางเลือกในทางการเมืองของตัวเอง จำกัดทางเลือกของสังคมไทย รวมทั้งจำกัดทางเลือกของประชาชนปาตานี ซึ่งตรงนี้แหละที่ทำให้ท่านไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการ ฉะนั้นวันนี้ประเทศต้องการการนำที่เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยจริง สันติภาพถึงจะเกิดขึ้นได้”
.
ขณะเดียวกัน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษา พรรคเพื่อไทย หนึ่งในตัวแทนฝ่ายไทยคนแรกที่ริเริ่มพูดคุยอย่างเปิดเผยกับฝ่ายขบวนการเอกราช BRN กล่าวเรียกสติผู้ฟังทุกคนว่า “อีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้ทุกคนต้องทำให้ประชาธิปไตยในประเทศเกิดขึ้น หลังจากนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องตัวจริงเขาจะสะท้อนปัญหาออกมาเอง แต่ท่านต้องบอกปัญหาจริงๆ ว่า แนวทางทางการเมืองที่ท่านต้องการมันคืออะไร
.
ส่วนเราจะมาในฐานะผู้ที่จะต้องเป็นคนขับเคลื่อนให้เกิดความเป็นรูปธรรม ดังนั้น กระบวนการจะสัมฤทธิ์ผลได้ ปัจจัยพื้นฐานที่ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย คือ การเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมโดยพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งและพี่น้องที่อยู่นอกพื้นที่
.
เพราะการแก้ไขปัญหาบางเรื่องมันอาจจบด้วยฝีมือคนในพื้นที่ได้ แต่บางอย่างมันก็ต้องเกี่ยวกับองค์รวมที่สุดท้ายอาจจะต้องมาถึงเรื่องการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กันมันถึงจะบรรลุสู่เป้าหมายได้”
ด้าน ชารีฟุดดีน สารีมิง ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวย้ำในประเด็นการมีส่วนร่วมว่า “พรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดในหลักการที่จะให้ประชาชนขยับและขับเคลื่อนกลไกกระบวนการสันติภาพ ขยับกลไกรัฐสภา และขยับกลไกการมีส่วนร่วมในพื้นที่ โดยเสนอนำวาระการสร้างสันติภาพเข้าสู่การหารือในรัฐสภา เพื่อเป็นการมอนิเตอร์โดยรัฐสภา ซึ่งเกราะตรงนี้จะเป็นเกราะที่จะพยุงให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพสู่การแก้ปัญหาในอนาคตได้
.
ส่วนนัจมุดดีน อูมา ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย พูดถึงปัญหาที่ยังไม่คืบหน้าว่า “วันนี้สังคมเปิดและเริ่มกล้าที่จะพูดถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพสันติสุข แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า กลไกลอำนาจรัฐบางกลไกที่มันยังไม่ถูกยอมรับ มันยังมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาแล้ว 3 ฉบับ แต่ก็ยังอยู่เหมือนเดิม”
.
กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการ พรรคเป็นธรรม แสดงจุดยืนของพรรคตัวเองในประเด็นนี้ว่า “การเจรจาสันติภาพแบบยั่งยืนจำเป็นต้องให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นคนบอกว่าฉันอยากได้สันติภาพแบบไหน ส่วนคุณ 2 คนที่ยิงทะเลาะกัน ต้องมาฟังฉัน ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็นยุบ ศอ.บต. ยุบ กอ.รมน. จำเป็นที่จะต้องทำ”
.
ปิดท้ายด้วย อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้า พรรคประชาชาติ ว่า “เริ่มพูดคุยตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทางรัฐบาลไม่ต้องการให้ใช้คำว่าเจรจา แต่ใช้คำว่าการพูดคุย มาวันนี้ทหารไม่ให้ใช้คำว่า สันติภาพ แต่รณรงค์ให้ใช้คำว่า สันติสุข ซึ่งเริ่มต้นก็ไม่แฟร์แล้ว มองว่าใจจริงแปลว่ายังไม่อยากให้มีการพูดคุย ต่อมาเมื่อมีการพูดคุยทางผู้เห็นต่างมีข้อเสนอมาเสนอ 5 ข้อในเวทีหารือ แต่ฝ่ายทหารไม่รับสักข้อ ถามต่อว่าแล้วจะคุยทำไม เสียเวลา แต่ถึงอย่างไรก็ตามการพูดคุยก็คือการนำไปสู่หนทางสันติภาพ”
.
ท้ายที่ที่สุดแล้วเส้นทางสู่สันติภาพปาตานีจะเป็นอย่างไร ตลอดระยะเวลา 4 ปี ของรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคตที่จะมาถึงนี้จะมีความคืบหน้า หรือ เปลี่ยนแปลงอย่างไร ประชาชนสามารถตั้งความหวังได้หรือไม่ไม่มีใครการันตีได้ ถึงแม้ว่าว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนบนเวทีแห่งนี้พูดอย่างหนักเน้นว่าถ้าเลือกพวกเขาแล้วสันติภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
.
แต่ปรากฎการณ์ที่พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคส่งตัวแทนมาในลักษณะที่ยังไม่ใช่เบอร์หนึ่งของพรรคตามที่ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวบนเวทีว่าเป็นที่น่าเสียดาย เพราะงานในลักษณะเช่นนี้ถือว่าสำคัญต่อคนทั้งประเทศเนื่องจากประเด็นความขัดแย้งที่มีมานานเกือบ 20 ปีในระลอกใหม่ตรงพื้นที่ปาตานีแห่งนี้มีความเกี่ยวโยงกับผู้คนทั่วทั้งประเทศ
.
เพราะเชื่อว่าหากพูดคุยในประเด็นสันติภาพคนที่จะมาให้กระจ่างชัดได้ควรเป็นคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจจริงที่คาบเกี่ยวกับบทบาทในนามรัฐบาลของประเทศในอนาคตด้วย ซึ่งบ่งบอกถึงการให้ความสำคัญต่อพื้นที่แห่งนี้มากน้อยเพียงใด
.