เหตุการณ์ความขัดแย้งในปาตานีหรือพื้นที่ชายแดนใต้ นั้นยังคงร้อนระอุ เรื่องราวของ “ไฟใต้” ยังยึดพื้นที่หน้าสื่อได้เสมอ การเล่าเรื่องประเด็นความขัดแย้ง ผลกระทบจากความรุนแรง ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา วัฒนธรรม และชีวิตวัยรุ่น ถูกเล่าผ่านสื่อกระแสหลักเสียเป็นส่วนใหญ่ สำหรับสื่อทางเลือกของฅนในพื้นที่ยังมีน้อย แต่การลุกขึ้นมาอธิบายความเป็นมลายูในฐานะเป็นฅนในนั้น พื้นที่ของสื่อที่เล่าเรื่องได้ชัด คือ“หนังสั้น”
อาทิเช่น หนังสั้น “Gelora” เป็นหนึ่งเรื่องที่หยิบเอาประเด็นเด็กกำพร้าในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรง กับการเป็นเน็ตไอดอลของหญิงสาวฅนหนึ่ง จนต้องมาเจอจุดพลิกผันและเรื่องราวที่ซ่อนลึกอยู่ในใจ
The Motive จะชวนมาคุยกับหนึ่งในนักแสดงหนังสั้นหญิง และผู้ผลิตหนังสั้นในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ถึงความเป็นมาในการกระโดดเข้ามาในวงการหนังสั้นของพื้นที่ และมุมมองอนาคตต่อวงการหนังสั้นในพื้นที่ ผ่าน เจะรอสนะ เบญสะอุดี
จะให้ฅนรู้จัก โรส จะแนะนำว่าเราคือ ใคร
โรส หลักๆตอนนี้ก็ขายของในนามแบรนด์ MARI ROSE เป็นงานส่วนตัว แทบจะอย่างเดียวเลย ที่ทำอยู่ก่อนหน้านี้เรามีอีเว้นที่ทำกันอยู่นั่นคือ หนังสั้น และจัดงานวิ่ง ไม่ได้เรียนจบมาด้านนิเทศก์ เพียงแต่ชอบการเล่าเรื่องผ่านหนังมากๆ และได้มีโอกาสอยู่ในกองถ่ายหลายๆโปรเจค ยิ่งทำให้ชอบหนังสั้นมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านเรา มีประเด็นให้ยกมาเล่าเยอะ จึงทำให้มีโปรเจคต่างๆ จากกรุงเทพฯลงมาทำหนังสั้น ซึ่งเราก็ได้รับเลือกเป็นโค้ชพี่เลี้ยง
มอง หนังสั้น เป็นงานอดิเรก หรืองานอาสา หรืองานแนวไหน
มองว่ามันเป็นงานหลักที่อยากจะทำมากๆ แต่มาโดนโควิดเล่นงานเสียก่อน จากงานหลักที่มีฅนติดต่อให้จัดงานวิ่ง และหนังสั้นที่สามารถจะทำได้ยาวๆ มันแทบไม่มีอะไรให้เราได้ทำแม้แต่การอาสาเข้าไปช่วย ไม่มีโอกาสได้ทำเลย
ก่อนหน้าโควิดทำหนังสั้น มาแล้วกี่เรื่อง โรสมีหน้าที่อะไรในกอง
จะช่วยเรื่องบท ข้อมูล ไอเดียที่จะมาใส่ในบทมากกว่า ซึ่งสามีมีกลุ่มที่รวมตัวทีมทำหนังด้วยกันในนาม นายูราม่า เรามีบทบาทเบื้องหลังเรื่องข้อมูลในบท จริงๆเป็นความชอบมากกว่าความถนัด แต่พอเข้าสู่การทำงานจริงๆ การทำหนังสั้น ที่ออกมาให้เราดูเพียงแค่5-10 นาที รายละเอียดทั้งตัวบท ข้อมูลที่จะใส่ในบท นักแสดง การสื่อถึงบทที่จะเล่า โปรดักชั่น การตัดต่อ โห! มันเยอะมาก แต่กลายเป็นยิ่งชอบๆมากขึ้น
ประเด็นในพื้นที่บ้านเรา ประเด็นแนวไหนที่ โรส มองว่าน่าจะหยิบจับมาทำหนังสั้น
ถ้าในมุมมองตัวเองอยากยกประเด็นการเล่นความรู้สึกมาเล่า ซึ่งอธิบายยาก การเล่นกับความรู้สึก ความรู้สึกในใจ ความรู้สึกลึกๆ อยากเล่าเรื่องภายในจิตใจที่โดนกระทำมากกว่า หนังที่เราและกลุ่มได้ทำ จะเป็นหนังที่ย้อนกลับไปในความรู้สึก เช่นเรื่อง “เด็กต้มยำ” ที่เล่าถึงความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจของฅนแรงงานตัวเล็กๆที่ขาดโอกาสพัฒนาตัวเอง หนังเรื่อง “วันวาน” ที่เล่าเรื่องความรู้สึกในคืนธรรมดาๆคืนหนึ่งก่อนที่วันพรุ่งนี้จะเกิดเหตุการณ์ตากใบ และหนังเรื่อง “อัสลามุอาลัยกุม” ที่เล่นกับความรู้สึกในการไม่ยอมรับฐานะของเด็กปอเนาะที่เดินขอบริจาค
อะไรที่ทำให้ต้องหยิบเอาประเด็นความรู้สึกมาเล่า เราอยากสื่อสารอะไร กับฅนดูหนังเรา
ตัวเราเองอย่างโรสเป็นฅนที่รักษาอาการซึมเศร้ามา เราย่อมบอกเล่าการเล่นกับอารมณ์ ความรู้สึกที่คิดว่าพอจะใช้ในหนังได้ ความรู้สึกข้างในที่โดนกดทับมาซ้ำๆ จนเข้าใจว่า ความรู้สึกไม่อาจจะสื่อเพียงด้านเดียว เช่นการสื่อในหนังที่เราจะสื่ออีกด้านหนึ่ง แต่ฅนดู ดูแล้วเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนี่เราคิดว่ามันคือความรู้สึกลึกๆจริงๆของคุณ คุณไม่จำเป็นต้องเข้าไปในหนังให้ลึกจนมันรู้สึกหายใจไม่ออก ไม่จำเป็นเลย เพียงแค่บางความรู้สึกที่เราอยากเล่า แค่คุณรู้สึกกับมัน นั่นก็ตรงความหมายแล้ว
เราเสนอประเด็นความรู้สึก ออกไปบ่อยๆ ตัวเองเกิดซึมเศร้าไหม เคยมีไหมที่ เขียนบทอยู่ดีๆ ก็ร้องไห้
ด้วยภาวะที่เราเป็นอยู่แล้ว เราพอรับมือจัดการกับอารมณ์สภาวะที่เป็นอยู่ได้ แต่หลายๆครั้งเขียนๆอยู่ มันก็ต้องปล่อยมือ พัก และหายไปสักช่วงหนึ่งก่อน เพราะรู้สึกแน่น มันเต็มในหัวเหมือนหายใจไม่ออก ออกไปหายใจสักพักนึง พอไหว เราก็กลับมาใหม่ กลับมาแบบที่รับมือก่ับอารมณ์ค้างตอนนั้นได้แล้ว แค่หายไปทำความเข้าใจกับมัน อธิบายให้นึกเป็นภาพก็ยากนะ ทางกายภาพที่เห็นชัดๆคือ นั่งพิมพ์เรื่องราวอยู่ดีๆ เมื่อเข้าสู่ภาวะที่อากาศข้างในแน่น มือก็สั่นไปเลย
จริงๆตอนนี้ เริ่มเขียนการเล่าเรื่องชีวิตกับโควิด เราเขียนไม่ถึงไหนเลย มันจุก มันแน่นไปหมด
อารมณ์ ความรู้สึก ที่เราเล่าผ่านหนังสั้นไป ฅนดูสะท้อนกลับมายังไงบ้าง
เมื่อหนังที่ทำออกไป ก็มีโจทย์ที่ว่าให้ฅนบ้านเราดูง่ายๆ เข้าใจทันทีเมื่อดูจบ แต่หลายๆครั้งก็มีการตั้งคำถามจากฅนดูว่า อ้าว! จบแบบนี้หรือ อันนี้เราไม่ได้ผลักภาระให้ฅนดูจนเกินไปนะ เพียงแต่เราแค่อยากให้ความรู้สึกในการดู มันหลากหลาย
“เรายังคงจะทำหนังสั้นต่อไป ด้วยอุปกรณ์ที่มี และกำลังที่มี
ขอแค่ให้หนังเป็นพื้นที่ทำหน้าที่ “เล่า”
ฅนดูหนังสั้น หรือตลาดหนังสั้น บ้านเรา กว้างไหม
ไม่กว้างมาก อาจจะเป็นเพียงเฉพาะกลุ่ม ซึ่งบ้านเราจะเน้นไปที่การทำคอนเทนต์มากกว่า ยิ่งถ้าทำหนังที่ลึกเข้าไปอีกอิงประวัติเก่าใหม่ฅนดูก็ถกไม่จบ เรามองว่ามันเปราะบางมากว่า ถามใจจริงๆ เราก็อยากเล่าให้สุดไปเลย อยากเล่นประเด็นที่แรงๆมากๆ แต่นั่นแหละ กรอบจำกัดให้เราได้แค่คิด ซึ่งหากเราทำจริงๆ มันก็เผยแพร่ไม่ได้อยู่ดี “เราอยากเล่าประเด็น การขาดอาการหายใจ”
ตลาดหนังสั้นบ้านเรา ทำรายได้จนสามารถเลี้ยงดูตัวเอง และทีมงาน ได้ไหม
ถ้าจะทำแต่หนังสั้นเพียวๆเลยบอกเลยว่าไม่ได้ อันนี้จริงๆเลย การทำหนังจริงๆต้องใช้ต้นทุนการผลิตสูง แค่ค่าทีมงานเราก็ต้องเคารพในวิชาชีพของเขา ช่างภาพ ผู้ช่วย ทีมเสียงก็ต้องใช้ฅนที่มีประสบการณ์นะ คือมันมีต้นทุนยิบย่อยแต่ราคาแพงแฝงอยู่ในทุกขั้นตอน เราไม่อยากใช้ระบบจิตอาสากับฅนทำหนังด้วยกัน ไม่อยากใช้ระบบช่วยๆกัน เลี้ยงข้าว เลิกกองก็ตบไหล่ขอบคุณ เพราะเวลาของทุกฅนก็มีต้นทุน หลายฅนก็อยู่ในช่วงวัยทำงานสร้างตัวกันทั้งนั้น
ปัญหาตรงนี้ตอนนี้เราก็ใช้ทีมเล็กที่ทีมงานแต่ละฅนทำหน้าที่ควบ ช่างภาพควบกับจัดแสง โปรดิวส์ควบตีสเลทควบจัดการกอง ผู้กำกับก็ควบตั้งแต่ขายงานเขียนบทตัดต่อ พอลดจำนวนทีมงาน ค่าตอบแทนต่อแต่ละงานก็จะได้กันทุกฅน ถึงแม้ไม่มากแต่ก็ได้กันทุกฅน
หากเปลี่ยนจากการผลิตหนัง มาทำคอนเทนต์ก็จะมี Tie in (การเอาเข้าสินค้าเข้าฉาก) เข้าก็มีรายได้ขึ้น แต่มองดูแล้วตลาดหนังบ้านเรายังไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ ถึงขั้นจะยึดเป็นอาชีพไปเลย เพราะฅนบ้านเรายังไม่ได้ต้องการหนังสั้นมากถึงขนาดนั้น เราอาจเป็นฅนที่มีกล้อง มีอุปกรณ์การถ่ายทำ ตัดต่อได้ เราก็ใช้อุปกรณ์เหล่านี้รับทำวีดิโอพรีเซนท์องค์กรนั่นนี่ วีดิโอแต่งงาน วีดิโอสอนหนังสือ ซึ่งฅนบ้านเราเข้าถึงและต้องการมากกว่า
แต่โรส ก็ยังคงจะทำหนังสั้นต่อไป เพราะอะไร
เรายังคงจะทำหนังสั้นต่อไป ด้วยอุปกรณ์ที่มี และกำลังที่มี ขอแค่ให้หนังเป็นพื้นที่ทำหน้าที่ “เล่า”
“ เราอยากให้ วงการหนังบ้านเราไปถึงมีชมใน Netflix
อยากให้มีลายเซ็นหนังของผู้ผลิตในพื้นที่ปรากฏฉายในโปรเจคต่างๆ ของต่างประเทศ ”
วงการฅนผลิตหนังสั้น ในพื้นที่ปาตานี มีเยอะไหม เราประสานงานเชื่อมอะไรกันบ้าง
มีเป็นกลุ่มๆ แต่ละทีมก็มีสไตล์แตกต่างกัน พอกลุ่มไม่ใหญ่มาก ทำให้เรารู้จักและหลายๆครั้งก็ประสานขอไอเดียกัน และร่วมแจมงานกันหลายครั้ง ตัวเราเองจะคอยประสานงานให้ และร่วมเป็นนักแสดงให้โปรเจคของกลุ่มเพื่อนๆ พี่ๆ
มีไอเดีย ที่จะทำหนังสั้น ป้อนตลาด หนังส่วนกลางไหม
มีๆ หวังอยากให้หนังสั้นบ้านเรามีโอกาสเหมือนจักรวาลไทบ้านที่ได้เข้าโรงหนังบ้าง แต่ระบบโรงหนังมันจะเก่าแล้วตามพฤติกรรมผู้บริโภคตอนนี้ เราก็อยากไปถึงระบบสตรีมมิ่งต่างๆ พวก Netflix ก็น่าสนใจ เรายังคาดหวังไปก่อนได้
มองตลาดหนังสั้น บ้านเรา ยังไงบ้าง หลังจากนี้ หมายถึง post covid
โห!! ความรู้สึกนั้นตอนนี้เรามองไม่ออกเลย เราไม่รู้เลยว่าภาวะหลังโควิดตอนไหน จะเป็นแบบไหน ในเมื่อตอนนี้การเจอกันจะคุยไอเดียเรายังทำกันได้ยากเลย เอาจริงๆมันหดหู่ไปแล้ว ความรู้สึกความอยากจะทำมันค่อยๆเบาบางลง โควิดทำให้การมองเส้นทางของเรายิ่งดำขึ้น เราบอกไม่ได้จริงๆว่า ตลาดหนังของเราหลังโควิดจะเป็นยังไง ก็ในเมื่อตอนนี้เรายังต้องดิ้นรนตัวเองมากในการเลี้ยงชีพ
ไม่มีแหล่งทุนจากส่วนกลาง หรือต่างประเทศ ที่ส่งเสริมวงการหนังสั้นในปาตานี บ้างเลยหรือ
ถ้าแหล่งทุนที่ทำหนังให้โปรเจคเขาก็มีบ้าง แต่ก็มีข้อจำกัดทั้งกรอบความคิด มันยังเป็นสื่อกลางๆ แต่ทุนส่งเสริมให้ผลิตสะท้อนความเป็นปาตานีอันนั้นยังไม่เข้าถึงแหล่งทุนนั้น
ความเป็นปาตานี เรานิยาม ยังไง
ตอบยากจัง เราขอนิยามว่า “การกดทับ”
สั้น ได้ใจ
ฮา (หัวเราะ)
ถ้าจะทำให้หนังสั้น เป็นที่นิยมของฅนในพื้นที่ ฅนทำหนังอย่างโรส มีแนวคิด ไอเดีย กระบวนไงบ้าง
เป็นที่นิยมหรือที่เรียกว่าหนังแมส หลายๆตลาด ทำแนวดราม่าให้แมส แต่เราอยากทำเรื่องใต้พรมมาเล่า มันก็เสียดสีพอสมควร ไอเดียก็มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ เพียงแค่การหยิบมาทำมันยังละเอียดอ่อนกับบริบทของบ้านเรา
เราอยากเห็นวงการหนังในพื้นที่ปาตานี ไปถึงระดับไหน
เราอยากให้ วงการหนังบ้านเราไปถึงมีชมใน Netflix อยากให้มีลายเซ็นหนังของผู้ผลิตในพื้นที่ปรากฏฉายในโปรเจคต่างๆ ของต่างประเทศ
ฝากบอกอะไร ฅนทำหนังในปาตานีหน่อยไหม
อยากเป็นกำลังใจให้ผู้ผลิตหนังบ้านเรา ที่จะคงผลิตออกมาด้วยสภาวะพื้นที่ที่ไม่ปกติอยู่แล้ว และเพิ่มความยากด้วยโควิด การออกกอง การรวมตัวซึ่งจำกัด ทำให้ต้องลดทรัพยากรลง การเดินทางข้ามจังหวัดไม่ได้ ต้องถ่ายทำใกล้ๆบ้าน เราชื่นชมมากๆ เพราะเราเองยังยากเลยที่จะทำ แต่แค่ได้เห็นผู้ผลิตพี่ๆ มีผลงานออกมาเรื่อยๆ รู้สึกดี ดีมากๆ