เขียนและเรียบเรียงโดย : Rozee Haree
คำภาษามลายูคำหนึ่งที่เริ่มถูกลืมเลือนจากสังคมมลายูปาตานีก็คือคำว่า “บาดี” (بادي) ความหมายของคำนี้ในปัจจุบันก็คือ พฤติกรรมแปลกๆ ที่แสดงออกมาโดยบุคคลใดบุคคหนึ่ง โดยไม่ทราบสาเหตุ เช่นชอบเกาตรงนั้นตรงนี้ ทั้งที่ไม่ได้คันหรือทำเสียงฟื้ดๆ ทางจมูกทั้งที่ไม่ได้ระคายจมูก
ถ้าหากพฤติกรรม“บาดี” เช่นในกรณีของเด็กทารกที่เกิดออกมาหรือผู้ใหญ่มีพฤติกรรมแปลกๆ แลดูคล้ายกับพฤติกรรมของสัตว์บางชนิด เช่นชอบเกาตรงนั้นตรงนี้แลดูคล้ายพฤติกรรมของลิง หากอาการเหล่านี้ถึงขั้นหนัก อาจต้องให้บอมอฮฺหรือปาวังทำพิธีปัดเป่ารักษา (เปอลือปัส) ให้ “บาดี” เหล่านี้ออกจากร่างกาย
“บาดี”ในความหมายเดิมของมันจึงหมายถึง อำนาจเร้นลับที่มีลักษณะเลวร้ายที่มีอยู่ในตัวสัตว์บางชนิด (เช่นกวาง ไก่ป่า นก)ที่ส่งผลร้ายต่อมนุษย์ที่ฆ่าสัตว์ หรือ สัมผัสกับซากสัตว์โดยไม่ได้ทำพิธีปลดปล่อยบาดีเสียก่อน
ความเชื่อมลายูดั้งเดิมนั้นได้รับอิทธิพลจากความเชื่อที่เชื่อว่าทุกสิ่งอย่างมีสารัตฐะทางจิตวิญญาณหรือที่เรียกว่า อะนิมิสม์ ร่างทางกายภาพของมนุษย์นั้นจะมีสมางัต (ขวัญ) บาดี และรูฮฺ (วิญญาณ) อาศัยอยู่ ส่วนในสัตว์นั้นจะมีสมางัตและบาดี ก้อนหิน ต้นไม้และวัตถุต่างๆ จะมีเพียงสมางัต เช่น สมางัตของต้นข้าวที่เรียกว่าสมางัตปาดี (ขวัญข้าว) แต่อย่างไรก็ตามนักมานุษยวิทยาบางคนก็ระบุว่า บาดี ก็มีอยู่ในต้นไม้เช่นกัน¹
ในปี ค.ศ. 1901 เนลซัน แอนนันเดลและเฮอร์เบิร์ต โรบินซันได้รวบรวมความเชื่อของคนมลายูปาตานี ตอนที่เขาแวะไปเมืองยาลอร์เขาได้บันทึกว่าคนมลายูปาตานีเชื่อในเรื่องบาดี โดยเชื่อว่าบาดีนั้นมีทั้งในคนและสัตว์ แต่ก็ไม่ได้มีกันในทุกคนหรือสัตว์ทุกชนิด คนมลายูในยาลอร์ได้ยกตัวอย่างสัตว์ที่มีบาดีซึ่งได้แก่ กวาง เลียงผา กระจง หมูป่า สุนัขล่าสัตว์ ลิง แร้ง นกกระสา ไก่ป่า จระเข้ ตะกวด และงูกะปะ²
แอนนันเดลยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า คนมลายูปาตานีนั้นเชื่อว่า หากโดน“บาดี” เข้า (หรือเรียกว่า Gila badi) เหยื่อจะมีอาการประหลาดเช่น หากโดนบาดีของไก่ป่า เขาคนนั้นจะมีอาการชอบทำท่าเหมือนกางปีก หรือ งอแขนเข้าลำตัวแล้วขยับเข้าขยับออกเหมือนไก่กระพือปีก หรือ หากใครโดนบาดีของกวางป่า คนที่โดนจะชอบพุ่งกระโจนใส่คนโดยทำหัวให้ต่ำกว่าปกติ งอมือทั้งสองข้างคล้ายลักษณะของกีบเท้ากวาง
นายพรานมลายูที่ยาลอร์เชื่อบาดีนั้นเป็นผีชนิดหนึ่งที่ถูกควบคุมโดยฮันตูรายา ( هنتو راي) นายพรานมลายูนั้นจึงต้องมีมนต์คาถาเพื่อไม่ให้สิ่งบาดีเหล่านั้นมาทำร้ายตน วิลเลี่ยม สกีตตอน ที่เก็บข้อมูลที่ซูไงอูจงในสลังงอร์ เขาได้พบกับนายพรานมลายูคนหนึ่งและได้ท่องมนต์คาถาเพื่อปลดปล่อยบาดีออกจากสัตว์ให้เขาฟัง³
.
ความเชื่อเรื่อง “บาดี” ในฐานะสิ่งชั่วร้ายที่สิงอยู่ในสัตว์และเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อแบบอะนิมิสม์ หรือ เชื่อในภูตผีเป็นเรื่องขัดหลักศาสนาอย่างชัดเจนและรุนแรง ความเชื่อเหล่านี้จึงค่อยๆ เลือนหาย “บาดี” จึงแทบไม่เป็นที่รับรู้ในสังคมมลายูปาตานีอีกเลย
แหล่งอ้างอิง
(1) Banks, D. J. 1982. The Role of Spirit Beliefs and Islam in the 20th Century Malay Villagers Idea of Ultimate Reality. in Ultimate Reality and Meaning 5 (4) หน้า 318
(2) Annandale, N. Robinson, H. C. 1903. Fasciculi Malayenses : Anthropological and Zoological Result of an Expedition to Perak and Siamese Malay States. Anthorpology. London : Longmans, Green and Co. หน้า 102
(3) Skeat, W. W. 1900. Malay Magics: Being Introduction to the Folklore and Popular Religion of the Malay Peninsula. London : McMillan and Co Ltd. หน้า 156
.
หมายเหตุ : The Motive ทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางในการสื่อสาร ซึ่ง เนื้อหา บทความ ของผู้เขียนอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกับกองบรรณาธิการ.
.