ปาตานีในอดีต : การต่อสู้เพื่อเอกราชในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

หมายเหตุ : บทความนี้ ตัดตอน คัดย่อส่วนหนึ่งมาจาก “ประวัติศาสตร์นิพนธ์ปัตตานีในสถานการณ์สู้รบ” ของ ทวีศักดิ์ เผือกสม[0] เพื่อการเผยแพร่และประวัติศาสตร์ศึกษาในรูปแบบออนไลน์

สำหรับคนที่จะเริ่มศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของปาตานี คงหนีไม่พ้นที่จะต้องอ่านงานประวัติศาสตร์จากท้องถิ่นชิ้นหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้งานชิ้นอื่นๆ เพราะรูปแบบการเขียนด้วยภาษาไทย(ต้นฉบับ) ตามบริบทกลิ่นอายของปัญญาชนมลายูปาตานี ที่ไปศึกษา ณ บางกอก ช่วงยุคสมัยนั้น งานชิ้นนั้นคือ ปัตตานี : อดีตและปัจจุบัน เขียนโดย อ.บางนรา หรือ อับดุลเลาะห์ ลออแมน อันเป็นบุคคลที่มีความกล้าหาญเป็นอย่างมากที่กล้าเขียนประวัติศาสตร์ปาตานี เพราะในช่วงเวลานั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคมืดที่การพูดความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานีเป็นเรื่องใกล้คุกใกล้ตารางเป็นอย่างยิ่ง (หนังสือ “ปัตตานี อดีต-ปัจจุบัน” ตีพิมพ์เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2519[1])

งานเขียนชิ้นนี้ของ อ.บางนรา ส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลของ ฮิกายัตปาตานี และ Sejarah Kerajaan Melayu Patani ของ Ibrahim Syukri นั่นเอง แต่ว่าส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้กลับเป็นการดึงรายงานข่าว ประสบการณ์ตรง บทความหนังสือพิมพ์ และรายงานวิจัยที่ถูกผลิตขึ้นนำมาใช้แสดงให้เห็นถึงการขาดความชอบธรรมของรัฐบาลไทย ดังเช่นปาตานีไม่ได้ถูกปกครองด้วยกฎหมาย แต่ปกครองด้วยความอยุติธรรม ผู้ต้องสงสัยอาจจะถูกประหารได้โดยไม่มีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม“ โจรแบ่งแยกดินแดน” กลายเป็นคำศัพท์ทางการเมืองที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการฆ่า นับตั้งแต่เด็กแบเบาะ คน สัตว์ สิ่งของ “ ไปจนถึงใบไม้ใบหญ้าที่นั่น”[2] การปราบปรามและทารุณกรรม เช่นฆ่าประชาชน ในเขตสามจังหวัดนั้นเป็นผลมาจากความแตกต่างกันในเรื่องชาติพันธุ์และภาษา[3] ยิ่งไปกว่านั้นในทางเศรษฐกิจปาตานียังถูกปกครองในฐานะที่เป็น“ อาณานิคม” ของส่วนกลาง ดังนั้นแม้ว่าในเขตปาตานีจะมั่งคั่งสมบูรณ์ แต่ประชาชนก็ยังคงยากจนล้าหลัง เพราะผลผลิตและทรัพยากรส่วนใหญ่ถูกเก็บรวบรวมและส่งเข้าไปยังส่วนกลางโดยมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ส่งกลับมายังท้องถิ่น ในทางการปกครอง ปาตานีก็ถูกปกครองแบบแบบอาณานิคม-เผด็จการ-ฟาสซิสม์ รัฐตำรวจและทหารรวมๆ กัน ประชาชนถูกปกครองโดยปราศจากการใช้กฎหมายและชีวิตเป็นของราคาถูก[4] รัฐบาลไทยไม่มีความสามารถที่จะปกครองประชาชน แต่กลับดำเนินนโยบายทิ้งให้ปัตตานีล้าหลังจนกว่าผู้คนจะลืมชาติพันธุ์ดั้งเดิมของตนเสียก่อนเพื่อให้เป็นคนไทย[5]

อย่างไรก็ตาม แม้ว่างานประวัติศาสตร์จากมุมมองท้องถิ่นเช่นนี้จะมิได้เขียนขึ้นด้วยมาตรฐานจารีตทางวิชาการในเรื่องของการตรวจสอบหลักฐานรวมทั้งระเบียบวิธีทางประวัติศาสตร์ แต่ผู้เขียนก็มีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งดังที่นักวิชาการบางคนชี้ให้เห็นว่าการเรียนประวัติศาสตร์ในระบบการศึกษาแบบจารีตของชาวมลายูปาตานีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับรัฐอิสลามปาตานีนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับขบวนการชาตินิยมในเชิงชาติพันธุ์ของชาวมลายูปาตานี[6] กระทั่งในปัจจุบัน สำเหนียกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอาณาจักรมลายูปาตานีก็ยังคงเป็นรากฐานที่สำคัญของการสร้างความชอบธรรมให้แก่การเคลื่อนไหวที่จะเรียกร้อง“ ความเป็นเอกราชสมบูรณ์” กลับคืนมายังปาตานี ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2498 นายอดุลย์ ณ สายบุรี (ตนกูอับดุลยาลาล์ นาเซร์) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส และผู้นำชาวมลายูปาตานีฅนอื่น ๆ รวมหกฅนได้ยื่นหนังสือฎีการ้องขอความเห็นใจถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมของอังกฤษ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษ “ โปรดเมตตาปลดปล่อยประเทศของเราและพวกเราจากการกดขี่ของสยาม” เพราะพวกเขา “ไม่ต้องการอยู่ภายใต้รัฐบาลสยามอีกต่อไปแล้ว” ในสำนึกประวัติศาสตร์ของพวกเขานั้น ปาตานี “เป็นประเทศมลายูอย่างแท้จริง ที่ก่อนหน้านี้ปกครองโดยราชามลายูมาหลายชั่วรุ่น” หากทว่าโชคร้ายที่ถูกยึดครองให้กลายเป็นเมืองขึ้นของสยามมาเมื่อเพียงแค่ห้าสิบปีก่อนหน้านี้เท่านั้น หนังสือฎีการ้องขอความเห็นใจดังกล่าวยังกล่าวอีกด้วยว่า “ดังนั้นพวกเราจึงหวังว่า ประเทศพันธมิตร (Allied Nation) ซึ่งทรงความยุติธรรมจะช่วยเหลือพวกเราในความปรารถนาดังกล่าวและปลดปล่อยเราจากอุ้งมือของสยาม”[7]

ความรู้สึกในลักษณะเดียวกันนี้ยังเห็นได้จากจดหมายเปิดผนึกจาก นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็น จม.ของ “ตนกูบีรอ กอตอนีลา” ประธานขบวนการพูโล (Patani United Liberation Organization- PULO) ถึงนายทหารยศพันเอกของกองทัพภาคที่ 4 ณ ค่ายวชิราวุธ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยต่อมาได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ มุสลิมนิวส์ ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544 ว่า “แม้รัฐธรรมนูญไทยจะให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน แต่ในความคิดเห็นของขบวนการพูโลนั้น ตราบใดที่ชาวมลายูปาตานียังไม่ได้รับ เอกราชที่สมบูรณ์ การต่อสู้จะดำเนินต่อไป การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับพูโลนั้นคงไม่มีโอกาสอีกต่อไปแล้ว ถ้าหากรัฐบาลไทยยังไม่สามารถและพร้อมที่จะมอบเอกราชให้กับปาตานี เพราะการเจรจาสันติภาพที่ผ่านมาล้มลุกคลุกคลานมาตลอดเพราะความไม่แน่นอนของระบบการเมืองไทยที่มีการสับเปลี่ยนผู้นำประเทศบ่อยครั้ง การเจรจาสันติภาพจึงดูมืดมนอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะยึดเอาจุดยืนของตัวเองเป็นหลัก นั่นคือการยืดหยุ่นของยุทธการในการสู้รบแล้วแต่สภาวการณ์ เพราะพูโลมีจุดยืนที่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เด็ดขาดนอกจาก เอกราชของปาตานีสถานเดียว”[8]

ดังนั้นแล้ว ประวัติศาสตร์การลุกฮือของคนปาตานี ต่อต้านการปกครองของรัฐสยามจนกระทั่งมาถึงปัจจุบันคือรัฐไทย เพื่อทวงคืนอัตลักษณ์มลายูของชาติที่ไร้รัฐ มีความเป็นมาอย่างต่อเนื่องชนิดที่ไม่มีจุดห่างหายของร่องรอยประวัติศาสตร์ และเป็นวิถีของการผลิตซ้ำการต่อสู้ ในขณะที่ประเทศไทยยังคงดิ้นรนต่อสู่ในอดีตของตัวเองที่ตามมาหลอกหลอนจากการที่สร้างชาติที่ชัดเจนในทางกายภาพแต่หลอมรวมจิตวิญญาณของความเป็นไทยที่ไม่สมบูรณ์ หลักฐานยืนยันนั้นคือในพื้นที่ของปาตานี.

อ้างอิงแหล่งข้อมูล:

[0] ทวีศักดิ์ เผือกสม, ประวัติศาสตร์นิพนธ์ปัตตานีในสถานการณ์สู้รบ. (ในรวมเล่ม ไทยใต้ มลายูเหนือ หน้า 82-105.)

[1] อ. บางนรา, ปัตตานี : อดีต-ปัจจุบัน (กรุงเทพฯ, ชมรมแสงเทียน, 2519)

[2] อ. บางนรา, ปัตตานี : อดีต-ปัจจุบัน. หน้า 128-130.

[3] อ. บางนรา, ปัตตานี : อดีต-ปัจจุบัน. หน้า 135-143. และ 144-147.

[4] สุชีพ ณ สงขลา, ซือโก๊ะ แซกอ (กรุงเทพฯ: พาสิโก, 2522), นวนิยายใช้ฉากของปัตตานี

[5] อ. บางนรา, ปัตตานี : อดีต-ปัจจุบัน. หน้า 160-161.

[6] Uthai Dulayakasem, “Education and Ethnic Nationalism: A Study of the Muslim Malays in Southern Siam,” (Doctoral dissertation, Stanford University, 1981), pp. 89- 101, สำหรับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์ปัตตานีกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน, ดู pp. 201-21 และ 220-226

.[7] Clive J. Christie, A Modem History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism (London; Taurus Academic Studies, 1996). Pp. 179-181 และ 227-230.

[8] มติชนรายวัน, วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2544. (เน้นโดย ทวีศักดิ์ เผือกสม)