ผู้เขียนได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุมเวทีใหญ่ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ที่ด้านหน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา มีการจัดชุมนุมปราศรัยเวทีใหญ่ ซึ่งจัดโดยเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และภาคประชาสังคม 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงนักวิชาการในมหาวิทยาลัยภาคใต้ และกลุ่มนักศึกษาที่มาร่วมกันชุมนุมคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา หรือ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”
เมื่อไปถึงในเวลา 17.00 น. ได้ทราบข่าวว่าทางศาลากลางจังหวัดสงขลาได้ปิดประตูใหญ่ ไม่ให้รถยนต์ผ่านเข้า-ออก แต่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ยังสามารถเดินเข้า-ออกศาลากลางได้ พร้อมมีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดหลายจุด มีการจัดรถห้องน้ำมาให้บริการ และจัดเจ้าหน้าที่มาดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามไฮไลด์ของช่วงกลางวันอยู่ที่เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะนะ จ.สงขลา ที่มาร่วมชุมนุมและร่วมกันละหมาดฮายัต ที่หน้าศาลากลางฯ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้านนิคมอุตสาหกรรม โดยระบุว่า การแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา เพื่อเปลี่ยนแปลงผังเมืองในพื้นที่ 3 ตำบลของ อ.จะนะ จาก “สีเขียว” เป็น “สีม่วง” เพื่อรองรับอุตสาหกรรม และหน่วยราชการอ้างว่าเป็นการดำเนินมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติการผังเมืองฯ เพื่อให้เหมาะกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนั้น ข้ออ้างนี้ยังไม่ใช่เหตุผลที่สมควรต่อการเปลี่ยนผังเมือง จากพื้นที่เกษตร เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
นายมังโสด หมะเต๊ะ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า “เราจะยกระดับการต่อสู้ ล่ารายชื่อ เชิญชวนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ปอเนาะทั้งจังหวัดสงขลาและชายแดนใช้กระบวนการทางกฎหมาย ไปรัฐสภาและอื่นๆภายใต้หลักการอิสลามและกฎหมาย “
สอดคล้องกับทัศนะบาบอฮุสนี บินหะยีคอเนาะ ที่กล่าวว่า “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ หากสร้างจากเงินนายทุน นั่นคือความโลภ หากสร้างจากเงินรัฐ นั่นคือฉ้อราษฎร์ ไม่ว่าจะพิจารณาจากแสงแห่งธรรมหรือสะท้อนเงากฎหมายเรามิอาจมองมันอย่างสงบใจได้จริงๆ การริฎอ(ยินยอม) กับสิ่งที่ผิดหลักอิสลาม เขาคนนั้นก็ไม่ต่างจากการทำผิดหลักศาสนาอย่างหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นภาระต่อผู้รู้ และผู้เรียนในการสืบทอดงานที่เป็นมรดกศาสนฑูตมุฮัมมัด ที่ยืนหยัดบนสัจธรรม ภายใต้อำนาจมืดที่ได้คุกคามท่านหรือจะมอบทรัพย์สินซื้อท่าน” (อ้างถึง Shukur Dina)
ก่อนช่วงเวลามัฆริบ นักศึกษา PerMAS มาอ่านบทกวี เพื่อให้กำลังใจผู้ร่วมชุมนุมและต่อมาในภาคกลางคืน บรรยากาศของการชุมนุมบนเวทีมี การปราศรัยโดย บรรจง นะแส นักอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลไทย ก็ดุดันเผ็ดร้อน โดยบางตอนของการปราศรัยบรรจงกล่าวว่า “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นมาบอกว่าเราจะไม่ยอมให้คุณมากำหนดเรา แบบไม่ชอบธรรมอีกต่อไปแล้ว” ทำให้ได้รับเสียงปรบมือเกรียวกราวจากผู้ชุมนุม
ต่อจากนั้นบนเวทียังมีอาจารย์นักวิชาการ จาก ม.อ.ปัตตานี อาทิ อาจารย์บัณฑิต ไกรวิจิตร คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาจารย์อสมา มังกรชัย คณะรัฐศาสตร์ อาจารย์อันธิฌา แสงชัย คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รวมถึงอาจารย์ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์ มอ. หาดใหญ่ ก็มาขึ้นเวทีพบปะและให้กำลังใจแก่ผู้ชุมนุม รวมถึงภาคประชาสังคม ภาคประชาชนก็ขึ้นมาร่วมปราศรัยอย่างคึกคัก อีกทั้งมีวงดนตรีมาร่วมขับกล่อมบทเพลงเพื่อชีวิตที่แต่งขึ้นเพื่อชาวจะนะ สร้างความครึกครื้นและอบอุ่นภายในงาน
สำหรับจุดไคลแม็กของภาคเวทีกลางคืน คือการขึ้นกล่าวคำประกาศสงขลาของนางสาวไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ เป็นตัวแทนของเครือข่ายฯ กล่าวคำประกาศ ซึ่งมีสองบุคคลขนาบข้างซ้ายขวา คือ นายรุ่งเรือง ระหมันยะ( คุณพ่อ) เป็นแกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และกิตติภพ สุทธิสว่าง หรือน้าแทนผู้เป็นที่รักของชาวจะนะ เสียงประกาศที่หนักแน่น ระบุว่า การมารวมตัวกันในครั้งนี้ เพราะไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่อำเภอจะนะ เนื่องจากเชื่อว่าจะสร้างปัญหามากกว่าสร้างทางออกให้กับสังคมชายแดนใต้ จึงเรียกร้องข้อเสนอ ให้รัฐบาลทบทวนมติครม.เสียใหม่และรัฐบาลต้องสั่งยุติกระบวนการแก้ไขผังเมืองทั้งหมด ไครียะห์ ได้ทิ้งท้ายประกาศว่า “เราจะรอฟังคำตอบจากรัฐบาลจนถึง วันที่ 5 ตุลาคม 2563 และหากไม่มีคำตอบใด เครือข่ายจะนะรัษ์ถิ่นจะเดินทางขึ้นกรุงเทพ เพื่อไปสอบถามถึงข้อเรียกร้องกับรัฐบาลโดยตรงที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป”
ในขณะที่ด้านล่างเวทีส่งเสียงกระหึ่มพร้อมร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับแกนนำ หญิงสูงวัยคนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า “หมะ” อายุ 75 ปี มาจากจะนะเพื่อร่วมคัดค้านเปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียวให้เป็นสีม่วง ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตคนจะนะและใกล้เคียงไปตลอดกาล เธอกล่าวว่า “หมะสู้มาตั้งแต่อายุ 50 ตอนนี้ก็ยังสู้อยู่”